กระทรวงสาธาณสุข ต่อยอดความเป็นดิจิตอล ไทยแลนด์ ด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์ eHealth เพื่อนำเอาระบบ ICT มาให้บริการประชาชน นำระบบ vSphere และ Horizon จาก VMware มาใช้งานเพื่อช่วยลดการจัดการระบบที่ซับซ้อนและลดค่าใช้จ่ายลง
การปฏิรูประบบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ eHealth ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีจุดมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อพัฒนาคุณภาพของการบริการทางสุขภาพ รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการด้านสุขภาพต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ eHealth ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ “ดิจิตอลไทยแลนด์” ของรัฐบาลไทย ที่ต้องการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการสร้างโอกาสใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการจากภาครัฐสู่ประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์หนทางใหม่ๆ ในการให้บริการด้านสุขภาพในประเทศ โดยภายใต้ยุทธศาสตร์โดยรวมของกระทรวงสาธารณสุขในการขับเคลื่อน eHealth เราได้เลือกใช้เทคโนโลยีของวีเอ็มแวร์เพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดี และให้ข้อมูลมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่น และ โมบิลิตี้ โซลูชั่น ที่ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สามารถมอบการดูแลและการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยต่อเนื่อง นี่คือก้าวที่สำคัญในการปฏิรูประบบดิจิตอลของประเทศ และเรามุ่งหวังว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโซลูชั่นของวีเอ็มแวร์มากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต เพื่อส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพให้แก่ชาวไทย”
ปัจจุบัน ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยความจำเป็นในการก้าวตามให้ทันกับการพัฒนาโดยรวมของประเทศ เกือบทั้งหมดของประชากรไทย 67 ล้านคน ได้ใช้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ลดลง อัตราอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และภาพรวมประสิทธิภาพของดัชนีชี้วัดสุขภาพที่ดี ความสำเร็จดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของระบบการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศไทยเอง