นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (INRS) ในควิเบก ได้พัฒนากล้องที่มีความเร็วแบบอัลตราฟาสต์ (Ultrafast) ที่สามารถบันทึกอัตราการเข้ารหัสเต็มลำดับภาพได้สูงถึง 156.3 เทราเฮิรตซ์สำหรับพิกเซลแต่ละจุด ซึ่งคิดเป็น 156.2 ล้านล้านเฟรมต่อวินาที
โดยมันได้รับการขนานนามว่า SCARF ซึ่งย่อมาจาก swept-coded aperture real-time femtophotography อุปกรณ์ถ่ายภาพรุ่นใหม่นี้มีความเร็วพอที่จะจับภาพปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การดูดกลืนแบบชั่วคราวในสารกึ่งตัวนำและการสูญเสียสนามแม่เหล็กของโลหะผสมในการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว
เปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงบางรุ่นที่สามารถบันทึกวิดีโอได้สูงสุด 960 เฟรมต่อวินาที ในขณะที่ The Slow Mo Guys บนยูทูปสามารถบันทึกภาพความเร็วสูงได้ถึง 800,000 เฟรมต่อวินาที (เมื่อเทียบกันนี่เรียกได้ว่าคนละเรื่อง)
INRS เชื่อว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพใหม่นี้จะช่วยขยายขอบเขตความรู้ในหลายสาขา รวมถึงชีววิทยา เคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ มันจะมีประโยชน์อย่างมากในการสังเกตปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถเกิดซ้ำหรือยากต่อการจำลองซ้ำ เช่น กลศาสตร์ของคลื่นกระแทกในเซลล์มีชีวิต ตามที่นักวิจัยกล่าว
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Techspot