การเปิดบริการไว-ไฟฟรีนั้นช่วยดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดีจนแทบจะกลายเป็นมาตรฐานของร้านค้าต่างๆ ไปแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ต้องเปลืองค่าอินเทอร์เน็ตต่างประเทศโรมมิ่งแพงๆ ก็มีเน็ตใช้ได้
ไว-ไฟสาธารณะได้เปลี่ยนโลกยุคใหม่ให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่บนขนส่งสาธารณะ ระหว่างการเดินทาง ระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน หรือแม้แต่ระหว่างอยู่บนเครื่องบินก็ตาม จะอยู่คาเฟ่หรือที่ไหนก็ทำงานทำการบ้านได้จากทุกที่
ในสหรัฐฯ ที่เดียวมีฮอตสปอตมากถึง 410,000 แห่ง ทั้งในสวนสาธารณะ ห้องสมุด ระบบขนส่งต่างๆ แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี พับลิกไว-ไฟถือเป็นแหล่งอุดมช่องโหว่และอันตรายทั้งมัลแวร์ แฮ็กเกอร์ และเป็นประตูสู่การบุกรุกเข้าระบบต่างๆ ด้วย
ภาครัฐและองค์กรต่างๆ เองจึงเริ่มหามาตรการควบคุมผู้ให้บริการฮอตสปอต เช่น กฎหมาย CIPA, IWF, GDPR, Friendly Wi-Fi เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานพวกนี้หนึ่งในข้อบังคับคือต้องทำตัวคัดกรอง DNS ด้วย ที่ใช้กรองเว็บอันตรายและเว็บไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้ ตัว DNS Filter ยังใช้ปิดกั้นบางเว็บที่ดูดแบนด์วิธหนัก อย่างพวกดูหนัง Netflix หรือบิททอร์เรนต์ เพื่อให้ยังมีเหลือให้บริการคนอื่นได้ด้วย อีกทั้งยังเก็บข้อมูลการใช้งาน การเข้าถึงแต่ละเว็บไซต์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพัฒนาบริการหรือทำโฆษณา เป็นต้น
ถือว่าฟีเจอร์ DNS Filtering นี้มีประโยชน์กับทุกที่ ไม่ใช่แค่ไว-ไฟสาธารณะ แม้แต่ในทุกองค์กรก็สามารถใช้ยกระดับทั้งความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้ประโยชน์ทางธุรกิจได้ควบคู่พร้อมกัน โดยเฉพาะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP
ตัวคัดกรอง DNS จะทำหน้าที่ปิดกั้นการเข้าถึงบางเว็บไซต์อย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่งส่วนใหญ่มักคัดกรองตามคอนเทนต์ในเว็บ ถ้าตรวจพบเว็บไหนเข้าเกณฑ์ที่กำหนดว่าอันตรายหรือไม่เหมาะสม ก็จะบล็อกไอพีด้วยตัวคัดกรองนี้
ที่มา : THN