หัวต่อสายไฟเบอร์แบบซิงเกิ้ลโหมดที่เรามักเจอกันจะเป็นหัวต่อสีน้ำเงิน แต่ถ้าคุณได้ไปทำงานกับโครงข่ายแบบ Passive Optical Network (PON) หรือดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกล คลาวด์/โคโลขนาดใหญ่ ก็อาจจะได้พบกับหัวต่อสายไฟเบอร์แบบซิงเกิลโหมดที่เป็นสีเขียวแทน ซึ่งหัวต่อสีเขียวนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
หัวต่อซิงเกิลโหมดสีน้ำเงินนั้นมีหน้าตัดสายไฟเบอร์แบบ UPC (Ultra Physical Contact) ขณะที่หัวต่อซิงเกิ้ลโหมดสีเขียวจะมีหน้าตัดสายไฟเบอร์แบบ APC (Angled Physical Contact) ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของชนิดหัวต่อเหล่านี้ โดยเฉพาะเวลาที่จะทำการทดสอบ
ปรับองศาเพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่า
หัวต่อแบบ UPC นั้นหน้าตัดสายไฟเบอร์จะค่อนข้างโค้งกลม ขณะที่หน้าตัดสายของหัวต่อ APC จะเอียง 8 องศา การที่ตัดเอียงเล็กน้อยจะทำให้แสงที่สะท้อนออกมาถูกดูดซับในชั้นฉนวนกลางหรือ Cladding ช่วยลดการสะท้อนกลับภายในแกนคอร์ไฟเบอร์ ซึ่งช่วยเรื่องลดการสูญเสียจากการสะท้อนสัญญาณได้เป็นอย่างมาก
แม้ปกติเราจะให้ความสำคัญกับการสูญเสียพลังงานภายในสายหรือ Insertion Loss มากกว่า แต่ก็มีลักษณะการใช้งานบางประเภทที่อ่อนไหวกับ Return Loss มาก ตัวอย่างเช่น การใช้กับแสงเลเซอร์กำลังสูงบนลิงค์ไฟเบอร์ระยะไกลมาก ซึ่งนอกจากการสูญเสียพลังงานแล้วยังเสี่ยงต่อการที่สายเกิดความเสียหายจากแสงที่สะท้อนกลับด้วย โดยระบบสายไฟเบอร์ที่ใช้ความยาวคลื่นสูง (ประมาณ 1500 นาโนเมตรขึ้นไป) จะอ่อนไหวกับการสะท้อนแสงมากกว่า รวมไปถึงสัญญาณที่เข้ารหัสแบบ Wavelength Division Multiplexing (WDM) ที่ใช้หลายความยาวคลื่นในการส่งสัญญาณด้วย หรือแม้แต่การใช้สัญญาณคลื่นวิทยุในการส่งข้อมูลวิดีโอบนความยาวคลื่นที่สูงกว่า และการใช้งานในระบบ PON/GPON
รูปแบบการใช้งานข้างต้นนี้จึงอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงเห็นการเชื่อมต่อแบบ APC ติดตั้งในเครือข่ายของผู้ให้บริการรวมทั้งเครือข่าย FFTX ไปจนถึงลูกค้าระดับองค์กรบางรายที่ใช้ PON ในวงแลนตัวเอง นอกจากนี้ยังมีบริษัทด้านระบบสายเคเบิลที่หันมาให้บริการบรอดแบนด์บนสายไฟเบอร์ รวมถึงยังมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายของผู้ให้บริการผ่านลิงค์แบบซิงเกิ้ลโหมดระยะไกลและ WDM กันมากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เราเริ่มเห็นการใช้หัวต่อ APC ในหลากหลายสถานการณ์
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เลยคือ หัวต่อแบบ UPC และ APC นั้นไม่สามารถเชื่อมเข้าด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่เพราะคอร์ไฟเบอร์ไม่ได้ขนานเรียบติดกันจนกระทบกับประสิทธิภาพการใช้งานอย่างมากเท่านั้น แต่ถ้ายังดันทุรังเชื่อมคอร์ทั้งสองแบบแล้วก็อาจสร้างความเสียหายกับหน้าตัดสาย โดยเฉพาะหน้าตัดสายไฟเบอร์ที่สำคัญมาก (และราคาแพง) ได้ด้วย
การทดสอบกับหัวต่อสายไฟเบอร์ให้ได้ทุกแบบ
มีอยู่หลายอย่างที่ต้องพิจารณาพิเศษเวลาทดสอบสายไฟเบอร์แบบซิงเกิลโหมดที่เชื่อมต่อด้วยหัว APC อย่างเวลาทดสอบค่าการสูญเสียภายในสายแบบ Tier 1 นั้น เครื่องมืออย่าง Fluke Networks’ CertiFiber® Pro จะใช้ต่อกับหัวต่อ APC ตรงพอร์ต INPUT ได้ “เท่านั้น” โดยพอร์ต “OUTPUT” จะใช้หัวต่อแบบ UPC ถ้าต่อผิดจากนี้ แม้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น คุณก็จะยังได้การแจ้งเตือนจากเครื่องมือทดสอบว่าพลังงานที่ได้รับต่ำเกินไป พอร์ต INPUT นั้นเชื่อมต่อแบบไม่สัมผัสกัน ดังนั้นจึงเชื่อมกับหัวต่อได้ทั้งสองประเภท เวลาทดสอบกับระบบแบบ APC จึงจำเป็นต้องใช้สายไฮบริดจ์ UPC-to-APC สองเส้น และสายแบบ APC-to-APC อีกสองเส้นในการเชื่อมต่อ
และในกรณีที่ต้องการตรวจวัดผ่านหัวต่อ APC ด้วยเครื่อง Fluke Networks’ FI-700 FiberInspector Pro หรือ FI-500 FiberInspector Micro นั้น คุณจะต้องใช้หัวโพรบแบบ APC (มีจำหน่ายให้แยกต่างหาก) ถ้าคุณยังดันทุรังใช้ปลายโพรบแบบ UPC ในการตรวจวัดหน้าตัดสายแบบ APC แล้ว ก็จะไม่สามารถโฟกัสภาพไปที่คอร์และหน้าตัดสายได้ การใช้ปลายหัวตรวจวัดแบบ APC นั้นจะช่วยปรับมุมเข้ากับการเอียง 8 องศาของหน้าตัดสายแบบ APC จนได้ภาพที่เห็นชัดเจนกว่า
ที่มา : Fluke Network