ท่ามกลางการกล่าวขวัญเกี่ยวกับการเป็นสมาร์ทซิตี้ทั่วโลก โดยที่มีข่าวพาดหัวในทุกๆ วันเกี่ยวกับโครงการสมาร์ทซิตี้ใหม่ๆ จนมองว่าหลายเมืองใหญ่กำลังแข่งขันที่จะเป็นเมืองที่อัจฉริยะมากที่สุด จนทางการในหลายเมืองทั่วโลกลงทุนกับสมาร์ทซิตี้นับหลายพันล้านดอลลาร์ฯ
แต่เราก็ยังได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ อยู่ดีว่า “แล้วอะไรคือสมาร์ทซิตี้?” ซึ่งปัจจุบันหลายคนมักจะหันไปเสิร์ชหาคำตอบจากกูเกิ้ล แล้วจะเห็นผลการค้นหาอันดับแรกเป็นนิยามจากเว็บวิกิพิเดีย ที่สรุปความหมายของสมาร์ทซิตี้เอาไว้ว่า
“สมาร์ทซิตี้เป็นเขตเมืองที่ใช้เซ็นเซอร์หลากหลายรูปแบบในการรวบรวมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับจัดการทรัพย์สิน และทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นอกจากนี้ยังมีพจนานุกรมออนไลน์นิยามไว้เช่นกัน
โดยระบุความหมายของสมาร์ทซิตี้ว่าเป็น “เขตเมืองที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตสูง โดยมีความเป็นเลิศในด้านหลักๆ หลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ โมบิลิตี้ สิ่งแวดล้อม ผู้คน ความเป็นอยู่ และการปกครอง”
เรียกได้ว่ามีนิยามที่กว้างมากสำหรับ “สิ่งที่ทำให้เป็นสมาร์ทซิตี้” ซึ่งทาง Axis มองว่ามีหลายปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนมองว่าเมืองที่อยู่นั้น “สมาร์ท” จริง โดยมีแผนภาพบนโลกออนไลน์มากมายที่แสดงให้เป็นระบบนิเวศของสมาร์ทซิตี้
อินเดียก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีนโยบายระดับชาติในการสร้างสมาร์ทซิตี้ โดยทางรัฐบาลได้เลือกแนวทางที่มีเป้าหมายชัดเจน ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมตอบคำถามนิยามของสมาร์ทซิตี้ว่า “ไม่มีนิยามใดที่มีความครอบคลุมจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง สมาร์ทซิตี้นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน”
“ดังนั้นแนวคิดของสมาร์ทซิตี้จึงมีความหลากหลายในแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ขึ้นกับระดับของความพัฒนา ความเต็มใจในการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติ ทรัพยากร และแรงจูงใจของผู้ที่อยู่อาศัยภายในเมือง” ทำให้ทาง Axis ให้ความสำคัญกับเป้าหมายหลักมากกว่า
จากการพูดคุยเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ร่วมกับเหล่าผู้วางระบบ และตัวแทนทางการเมืองกลาสโลว์ สก็อตแลนด์นั้น ทาง Axis ได้แบ่งปันคำอธิบายที่อิงเป้าหมายเป็นหลักของสมาร์ทซิตี้ให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ทางการเมือง, นักข่าว, พาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยี, และคนในวงการทั่วโลกจนเป็นที่ยอมรับ
โดยแทนที่จะพูดถึงระบบจอดรถอัจฉริยะ, บริการสุขภาพอัจฉริยะ, การเกษตรแบบอัจฉริยะ, การขนส่งแบบอัจฉริยะ, รัฐบาลอัจฉริยะ, พลังงานอัจฉริยะ หรือความอัจฉริยะด้านอื่นๆ ก็ควรมามองถึงแรงจูงใจในการริเริ่มการทำสมาร์ทซิตี้แทน
ไล่ตั้งแต่การยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะ และให้บริการระดับสูงแก่ประชาชน การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เติบโตและพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านการขนส่งและโมบิลิตี้ เพื่อให้ประชาชน แรงงาน และนักท่องเที่ยวเดินทางในเมือง ไม่ว่าจะด้วยเท้า จักรยาน รถยนต์ หรือขนส่งสาธารณะได้ง่ายขึ้น ด้านความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และความปลอดภัยในกิจกรรมพิเศษต่างๆ ไปจนถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัตร รวมทั้งการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองด้วย
ที่มา : Axis