หน้าแรก Home feature บทความพิเศษ : เฟิร์มแวร์ ต่างจากซอฟต์แวร์ตรงไหน?

บทความพิเศษ : เฟิร์มแวร์ ต่างจากซอฟต์แวร์ตรงไหน?

แบ่งปัน

เวลาเอาอุปกรณ์ไอทีมาใช้งาน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์นั้น คุณอาจจะแปลกใจที่อุปกรณ์เหล่านี้มีอินเทอร์เฟซหรือโปรแกรมที่ใช้งานบนตัวอุปกรณ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องหาซอฟต์แวร์มาลงต่างหาก ซึ่งเราเรียกซอฟต์แวร์ที่มีมาหรือฝังลงในฮาร์ดแวร์ต่างๆ ว่า Firmware

Firmware คืออะไร?

ด้วยความหมายตรงตัวว่า ซอฟต์ “แวร์” ที่ “ฝัง” ลงไปในอุปกรณ์มาตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นในคีย์บอร์ด, ฮาร์ดดิสก์, แฟลชไดรฟ์, ไบออส, หรือแม้แต่การ์ดจอ โดยถูกเขียนโปรแกรมให้สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างถาวรทั้งในการสื่อสารกับอุปกรณ์อื่น รวมทั้งทำงานพื้นฐานอย่างการรับข้อมูลป้อนเข้าหรือแสดงเอาต์พุต เป็นต้น

แม้จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ฝังมากับอุปกรณ์ตั้งแต่แรก แต่ก็มักสามารถเปลี่ยนหรืออัพเดทได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ด้วยพร้อมกันได้ อย่างไรก็ดี อุปกรณ์ไอทีส่วนใหญ่มักไม่สามารถทำงานได้ตามปกติถ้าไม่มีเฟิร์มแวร์

โดยทั่วไปแล้ว เฟิร์มแวร์มักถูกเขียนเก็บไว้ในหน่วยความจำกึ่งถาวรที่เรียกว่า Flash ROM ในอุปกรณ์ซึ่งถึงแม้เราจะรู้จักกันว่ารอมนั้นเป็นหน่วยความจำที่สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถเขียนหรือแก้ไขได้ แต่ด้วยความเป็นหน่วยความจำแบบแฟลช จึงยังสามารถล้างข้อมูลใน ROM ประเภทนี้แล้วเขียนข้อมูลทับได้ หรือที่คนทั่วไปติดปากว่าเป็นการทำแฟลชรอมนั่นเอง

การอัพเดทเฟิร์มแวร์ส่วนใหญ่นั้นมักมีวัตถุประสงค์เพื่ออุดช่องโหว่, แก้ไขเพิ่มฟีเจอร์ใหม่, รวมทั้งยกระดับความปลอดภัยของอุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้บางตัวสามารถตรวจสอบเฟิร์มแวร์ใหม่เป็นประจำ เพื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเองแบบอัตโนมัติ ขณะที่อุปกรณ์อื่นนั้นผู้ผลิตต้องการให้ผู้ใช้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของผู้ผลิตด้วยตัวเองเพื่อดาวน์โหลดตัวอัพเดทเฟิร์มแวร์มาติดตั้งบนอุปกรณ์ด้วยตัวเองเช่นกัน แม้อุปกรณ์บางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องมีการอัพเดทบ่อยๆ เช่น หลอดไฟอัจฉริยะ แต่เฟิร์มแวร์บนอุปกรณ์บางประเภทที่ต้องสื่อสารกับอุปกรณ์ที่มักเปลี่ยนรุ่นหรืออัพเดทโอเอสบ่อยอย่างเทอโมสแตตก็จำเป็นต้องหมั่นอัพเดทตลอดเวลาเพื่อให้ยังสามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้

คุณสามารถเข้าไปตรวจสอบตัวอัพเดทของเฟิร์มแวร์ได้โดยเยี่ยมชมหน้า “Support” หรือ “Downloads” ของเว็บไซต์ผู้ผลิต ถึงแม้การคอยอัพเดทเฟิร์มแวร์ของอุปกรณ์ให้ทันสมัยจะไม่จำเป็นเสมอไป แต่ก็แนะนำให้คอยอัพเดทโดยเฉพาะเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้อยู่ตลอด แต่มีข้อควรระวังในการอัพเดทเฟิร์มแวร์ ที่ควรปล่อยให้สามารถอัพเดทตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสมบูรณ์โดยไม่ไปรบกวนหรือปิดเครื่องระหว่างการอัพเดท เพราะมักจะทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถทำงานตามปกติได้อีก

ประวัติของ Firmware

จริงๆ คำว่าเฟิร์มแวร์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1967 โดยเริ่มแรกใช้หมายถึงโค้ดที่เขียนอยู่บนหน่วยความจำสำหรับให้คอมพิวเตอร์ใช้ประมวลผล ซึ่งดูก้ำกึ่งระหว่างการเป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เลยเลือกที่จะใช้คำว่าเฟิร์มแวร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นคนก็นิยมใช้คำว่าเฟิร์มแวร์นี้กับโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชุดคำสั่งประมวลผลสำหรับไบออส, ตัวโหลด Bootstrap, หรือระบบควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานตามบ้านทั่วไปอย่างเช่น เตาอบไมโครเวฟ, รีโมทคอนโทรล, หรืออุปกรณ์ที่ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์อีกที

ความแตกต่างระหว่าง Firmware และ Software

ถ้าพูดถึงความแตกต่างกับซอฟต์แวร์แล้ว เราสามารถจัดว่าเฟิร์มแวร์เป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งมากกว่าที่จะแยกส่วนว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เวลาเราพูดถึงซอฟต์แวร์นั้น มักใช้จำกัดความถึงแอพพลิเคชั่นที่มีขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง และมีประโยชน์ใช้งานค่อนข้างกว้างกว่า โดยขนาดมีตั้งแต่หลายร้อยกิโลไบต์ไปจนถึงหลายกิกะไบต์

ขณะที่เฟิร์มแวร์นั้นมักมีขนาดค่อนข้างเล็ก ประมาณไม่กี่กิโลไบต์ แต่ถึงแม้จะมีขนาดเล็กมาก การเปลี่ยนหรืออัพเดทเฟิร์มแวร์กลับยุ่งยากและเสี่ยงกว่าซอฟต์แวร์หลายเท่าตัว บางอุปกรณ์อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนรุ่นเฟิร์มแวร์ได้ ขณะที่บางอุปกรณ์ไม่สามารถทำได้ ส่วนซอฟต์แวร์นั้นค่อนข้างง่ายและตรงไปตรงมาทั้งการติดตั้ง, ถอนการติดตั้ง, หรือแม้แต่การเปลี่ยนเวอร์ชั่น

ซอฟต์แวร์นั้นข้อมูลจะถูกจัดเก็บในหน่วยความจำหรือพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลได้ง่าย แต่เฟิร์มแวร์มักถูกเขียนอยู่หน่วยความจำที่ค่อนข้างถาวรหรือปรับเปลี่ยนได้ยาก ด้วยเจตนาที่ต้องการให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เสี่ยงต่อการถูกรบกวนจากภายนอก เมื่อก่อนนั้นนิยมใส่เฟิร์มแวร์ลงในชิปที่เรียกว่า EPROM แต่ปัจจุบันนิยมหันมาใช้แฟลชรอมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แก้ไขหรืออัพเดทได้มากกว่า

ที่มา : Technotification