ไม่ได้ตาฝาดหรอก แม้ตอนนี้จะดูห่างไกลเกินไปหน่อยสำหรับเจนถัดไปของเทคโนโลยีโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้แต่ 5G เราก็ยังใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มที่เลย แถมบางอุปกรณ์ยังใช้ได้แค่ 4G ด้วย แต่ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีเทคโนโลยีรุ่นใหม่ผลัดเปลี่ยนมาเรื่อยๆ
6G ถือเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่รุ่นที่ 6 ถัดมาจาก 5G โดยรุ่นแรก 1G เปิดตัวในช่วงปี 1980 นั้นเป็นแบบอนาล็อกทั้งหมด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรุ่นถัดมาที่เป็นดิจิตอลอย่าง 2G ในปี 1991 ที่อาจยังมีใช้อยู่ปัจจุบันบ้างในเขตชนบท
ต่อมา 3G สมัยมิลเลเนียมในปี 2001 และ 4G ที่มาในปี 2009 พร้อมกับการบูมของสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ปัจจุบัน 5G ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยอัตราการรับส่งข้อมูลที่เร็วที่สุด และเวลาหน่วงที่ต่ำพอที่จะรองรับเทคโนโลยีแบบ Edge
อันได้แก่ Augmented Reality (AR) และ Internet of Things (IoT) ดังนั้นแน่นอนว่า 6G ในอนาคตก็ต้องพัฒนาขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะด้าน Latency หรือ Throughput แม้จะยังอยู่ในช่วงแรงของการพัฒนา ยังไม่ตัดสินใจเรื่องช่วงความถี่และมาตรฐานที่จะใช้
แต่ทาง IEEE ก็เสนอว่าความถี่น่าจะอยู่ระหว่าง 100GHz – 3 THz ที่มีว่างให้ใช้ปริมาณมหาศาล เพื่อให้ได้อัตราเร็ว 100 Gbps หรือมากกว่า แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายแบบเดียวกับสมัย 5G ที่ความถี่สูงมักอ่อนไหวต่อสิ่งกีดขวางอย่างกำแพงคอนกรีต
ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ประกาศความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกำหนดมาตรฐาน 6G ระดับนานาชาติแล้ว เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของอุปกรณ์และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจีน จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านๆ มา
มีรายงานในปี 2021 ว่า ด้วยความสามารถของเซลล์ขนาดเล็กที่ใช้เสาอากาศย่อยจำนวนมากแบบ MIMO จะเป็นตัวขับเคลื่อนจาก 5G ไปสู่ 6G ทาง Qualcomm เองก็วางเป้าหมายว่าจะต้องนำเทคโนโลยี 6G มาใช้ภายในปี 2030 นี้
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – ITPro