Web 3.0 เน้นการกระจายจากศูนย์กลาง ขับเคลื่อนด้วย AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนด้วย เพื่อให้ได้การสื่อสารที่ใกล้เคียงมนุษย์คุยกันจริง โดยผู้ใช้ยังได้การควบคุมเหนือคอนเท็นต์และข้อมูลของตัวเอง ขณะที่สามารถจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลได้แบบไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของ, มีความเสี่ยงด้านการรักษาความเป็นส่วนตัว, หรือต้องพึ่งพาตัวกลางอีก โมเดลลักษณะนี้ทำให้ผู้ใช้ล็อกอินเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ต่างๆ โดยไม่ถูกติดตามความเคลื่อนไหวด้วย
กุญแจสำคัญของนวัตกรรมใหม่ใน Web 3.0 นี้ คือการแปลงทรัพย์สินทุกอย่างให้เป็นแบบดิจิทัลด้วยการทำให้เป็นโทเค่นหรือ Tokenization ที่เป็นการแปลงทรัพย์สินและสิทธิ์ต่างๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัลหรือ “โทเค่น” บนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งเงินคริปโตหรือโทเค่นทั่วไป (Fungible) ต่างก็อยู่ในรูปของเงินตราดิจิทัลที่แลกเปลี่ยนบนเน็ตเวิร์กได้ง่าย เป็นการขับเคลื่อนโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ทั้งด้านการเงินและเชิงพาณิชย์ ขณะที่ตัวโทเค่นที่ทดแทนกันไม่ได้หรือ NFT เป็นหน่วยข้อมูลที่แทนทรัพย์สินจำเพาะอย่างเช่นอวาตาร์, งานศิลปะดิจิทัล, หรือการ์ดที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสะสมกัน ที่ผู้ใช้เป็นเจ้าของและนำไปทำเงินได้
เมื่อครั้ง Web 1.0 ขึ้นมาเป็น Web 2.0 เราเห็นความแตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจน โดยสมัย 1.0 ผู้ใช้เป็นคนร้องขอข้อมูลเว็บเพจ ไม่ได้สร้างคอนเทนต์เอง ขณะที่พอมาเป็น 2.0 ผู้ใช้เป็นฝ่ายสร้างเนื้อหาและมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ต่างๆ (รวมทั้งระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเองด้วย) ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เว็บบอร์ด เป็นต้น แต่พอมาเป็นอินเทอร์เน็ตในยุค Web 3.0 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการนิยามความแตกต่างอย่างชัดเจน
สำหรับความหมายของ Web 3.0 ที่อธิบายโดยผู้สื่อขาว The New York Time คุณ John Markoff ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการใหม่ของ Web ที่รวมตั้งแต่นวัตกรรมและรูปแบบการใช้งานต่างๆ ที่พอสรุปเป็นคุณสมบัติหลัก 8 ประการดังต่อไปนี้:
1. เว็บที่เข้าใจความหมายคอนเท็นต์ (Semantic): วิวัฒนาการขั้นต่อไปของเว็บคือการเป็น Semantic Web ที่ยกระดับความสามารถของเทคโนโลยีบนเว็บในการสร้าง แบ่งปัน และเชื่อมต่อคอนเท็นต์ผ่านการค้นหาและวิเคราะห์ด้วยการทำความเข้าใจความหมายของคำมากกว่าแค่ดูคีย์เวิร์ดหรือตัวเลข
2. การใช้สมองกล (AI): เมื่อรวมความสามารถในการเข้าใจความหมายกับการประมวลผลภาษาธรรมชาติแล้ว คอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าใจข้อมูลในระดับเสมือนมนุษย์จริง ที่ให้การแสดงผลที่เร็วกว่า ตรงประเด็นมากกว่า ทำให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ดีขึ้น
3. แสดงกราฟิกสามมิติ: การออกแบบในรูปสามมิติจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในเว็บไซต์และบริการต่างๆ ของยุค Web 3.0 ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำภายในพิพิธภัณฑ์, เกมคอมพิวเตอร์, อีคอมเมิร์ซ, เนื้อหาที่เชื่อมโยงตำแหน่งที่ตั้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
4. การเชื่อมต่อข้อมูลกันมากขึ้น: ใน Web 3.0 ข้อมูลจะเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้นด้วยการใช้เมต้าดาต้าแบบ Semantic ทำให้ได้ประสบการณ์ใช้งานที่พัฒนาการเชื่อมต่อขึ้นอีกขั้น ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทุกอย่างที่เข้าถึงได้
5. พร้อมให้ใช้อย่างทั่วถึง: คอนเท็นต์และบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต จะสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาบนอุปกรณ์จำนวนมาก ที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่บนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนอย่างเดียว สมัย Web 2.0 ก็เปิดกว้างกันมากแล้ว แต่ด้วยการเติบโตของอุปกรณ์ IoT ทำให้ก้าวขึ้นอีกระดับ
6. บล็อกเชน: ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ข้อมูลของผู้ใช้งานจะได้รับการป้องกันและเข้ารหัส ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันองค์รใหญ่ๆ หลายแห่งในการควบคุมข้อมูลและ/หรือเข้าใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่พวกเขาได้รับไป
7. การกระจายศูนย์: เครือข่ายข้อมูลแบบไม่รวมศูนย์นี้จัดเก็บข้อมูลในลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์แบบระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer) ที่ผู้ใช้ยังได้ความเป็นเจ้าของบนข้อมูลและทรัพย์สินดิจิทัลของตัวเอง และสามารถล็อกอินบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ถูกตรวจติดตามความเคลื่อนไหวได้
8. การประมวลผลแบบ Edge: Web 3.0 ใช้ความก้าวหน้าของการประมวลผลแบบ Edge ที่แอพและข้อมูลต่างได้รับการประมวลผลที่ส่วนปลายของเครือข่าย บนอุปกรณ์ปลายทางอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่, แล็ปท็อป, เครื่องใช้ไฟฟ้า. เซ็นเซอร์, หรือแม้แต่รถยนต์อัจฉริยะ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – https://www.expert.ai/blog/web-3-0/