สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัว รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า UNICON รุ่นที่ 1 วิจัยและพัฒนาโดย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางภายใน สจล. ด้วยพลังสะอาด ต้นแบบในการคิดค้นนวัตกรรม ลดมลพิษทางอากาศ และมีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน
ทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตั้งแต่ขณะเรียน รวมถึงการนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานจริง เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะกลายเป็นยานพาหนะหลักในอนาคต
ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จึงได้ดำเนินนโยบาย KMITL for SDGs ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Innovated in KMITL ที่ส่งเสริมให้นักวิจัยบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อใช้จริงภายในสถาบัน
โดยนักวิจัย นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยรถต้นแบบ UNICON ซึ่งเป็นรถโดยสารเคลื่อนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% สำหรับใช้ภายในสถาบันฯ มุ่งลดมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันอันเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของประชาชน ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากกว่าการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งมีราคาผันผวนตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นยานยนต์แห่งอนาคต
แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรถรางที่ใช้ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์อย่างลงตัว เมื่อนำมาใช้ภายในพื้นของสถาบันฯ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ สจล. ยุคใหม่ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เช่นกัน โดยชื่อรถ UNICON มาจากคำว่า University และ Connection ที่นอกจากจะสื่อความหมายถึงรถโดยสารที่เชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่สถาบันฯ แล้ว ยังสื่อถึงการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอน การทำวิจัย และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันฯ เข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมรถ UNICON ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ประกอบ ตลอดจนบำรุงรักษา โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ศิษย์เก่าและนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาเป็นยานพาหนะกระแสหลักในอนาคต ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวเสริม
//////////////////