หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic ความรู้พื้นฐาน 101 : การสไปซ์สายไฟเบอร์ ควรทำหรือไม่อย่างไร?

ความรู้พื้นฐาน 101 : การสไปซ์สายไฟเบอร์ ควรทำหรือไม่อย่างไร?

แบ่งปัน

การสไปซ์สายไฟเบอร์ (Fiber Splicing) เป็นวิธีการเชื่อมไฟเบอร์สองเส้นเข้าด้วยกัน ด้วยการตัดสายไฟเบอร์ทั้งสองเส้นให้หน้าตัดคมสวยอย่างแม่นยำ แล้วเอามาวางต่อกันพร้อมเชื่อมสายด้วยเครื่องหลอมสไปซ์สาย

การหลอมรวมสายไฟเบอร์ทั้งสองเส้นนั้นเกิดขึ้นจากการเชื่อมด้วยไฟฟ้า หลอมให้ไฟเบอร์ทั้งสองเส้นติดกันเป็นเส้นเดียวกัน มีเครื่องหลอมสายแบบหลายเส้นพร้อมกันด้วย ที่สามารถเชื่อมต่อสาย 12 เส้นได้พร้อมกันสำหรับสายไฟเบอร์แผงแบบ 12 คอร์ (12-Fiber Ribbon Cable)

ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ด้านการสไปซ์สาย หรือแค่อยากรู้ว่าทำไมต้องคอยสไปซ์สายในเมื่อสามารถเลือกซื้อสายที่เชื่อมต่อมาให้แล้ว หรือใช้วิธีต่อสายแบบอื่นได้ก็ตาม ครั้งนี้เราจึงจะมาวิเคราะห์กันถึงรูปแบบการประยุกต์ใช้และสถานการณ์ที่เหมาะกับการสไปซ์สาย รวมทั้งข้อความพิจารณาที่สำคัญดังต่อไปนี้

เราจะใช้เมื่อไหร่และที่ไหน?

การหลอมสไปซ์สายทำให้ได้การสูญเสียสัญญาณต่ำที่สุด ได้ค่าสะท้อนกลับของแสงน้อยที่สุด จึงถือเป็นวิธีการต่อสายไฟเบอร์ที่เสถียรและแข็งแรงมากที่สุด ซึ่งเมื่อเชื่อมได้ถูกต้องตามหลักแล้ว การสไปซ์สายจะทำให้เกิดลอสน้อยกว่า 0.1dB ขณะที่การเชื่อมต่อสายไฟเบอร์ด้วยหัวต่อจะทำให้เกิดยิลด์ลอสประมาณ 0.2dB ขึ้นไป เนื่องจากค่าลอสหรือการสูญเสียสัญญาณภายในสายถือเป็นพารามิเตอร์ด้านประสิทธิภาพหลักที่จำเป็นในการตรวจสายไฟเบอร์เทียบมาตรฐาน โดยเฉพาะสายไฟเบอร์ความเร็วสูงระดับ 40 และ 100 กิกะบิตที่มีเกณฑ์ของค่าการสูญเสียที่เข้มงวดมาก ทำให้การเชื่อมสไปซ์สายได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เรายังนิยมใช้การสไปซ์สายในการซ่อมลิงก์ไฟเบอร์ที่แตกหักด้วย รวมทั้งได้การยอมรับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อสายไฟเบอร์นอกอาคารขนาด 250 ไมครอน ไปจนถึงสายไฟเบอร์ภายในโรงงานขนาด 900 ไมครอนที่อยู่บริเวณจุดเข้าอาคาร การสไปซ์สายยังใช้ต่อลิงก์ไฟเบอร์ในดาต้าเซ็นเตอร์หรือวงแลนได้ด้วย สำหรับการสไปซ์สายที่จุดเข้าอาคารหรือบนแผงไฟเบอร์นั้นจะใช้สายพิกเทลหรือหัวต่อแบบ Splice-on

สายพิกเทล Splice-on เป็นหัวต่อที่ขัดหน้าตัดมาให้แล้วพร้อมทั้งปล่อยหางสายไฟเบอร์สั้นๆ (ประมาณ 5 เมตรหรือสั้นกว่า) ที่เชื่อมกับสายไฟเบอร์ขาเข้า พร้อมทั้งมีการหุ้มจุดสไปซ์ด้วยปลอก (Splice Sleeve) ที่เป็นท่อใสหุ้มด้วยท่อที่หดตัวด้วยความร้อนได้ร่วมกับกรอบเสริมความแข็งแรง ซึ่งจุดสไปซ์ภายในซองหุ้มเหล่านี้จะเก็บเรียงอยู่ในถาด (Splice Tray) ร่วมกับสายส่วนเกิน

นอกจากวิธีสไปซ์สายพิกเทลข้างต้นแล้ว ก็สามารถเลือกใช้เป็นหัวต่อ Splice-on ที่มีท่อและสายไฟเบอร์ที่ขัดหน้าตัดเรียบร้อย แต่ห้อยปลายสายสั้นกว่ามากเรียงอยู่ในซองที่ปกป้องหัวต่ออีกที เมื่อนำสายไฟเบอร์มาปอก ตัด และหลอมเข้าหัวต่อแล้ว ตัวบอดี้ของหัวต่อก็จะประกอบล็อกเข้ากับท่อด้านใน ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญของหัวต่อ Splice-on ที่เหนือกว่าสายพิกเทลคือ การที่ไม่ต้องใช้ซองหุ้มสไปซ์สายและถาดสไปซ์เก็บสาย

และในกรณีที่ใช้หัวต่อมัดสายไฟเบอร์แบบ MPO เรามักจะใช้สาย MPO ที่มีการเชื่อมต่อสายพร้อมทดสอบจากโรงงานมาให้เรียบร้อยแล้วในการติดตั้ง แต่ถึงแม้สาย MPO ที่เชื่อมต่อมาให้แล้วจะให้ค่าการสูญเสียสัญญาณต่ำมากถึง 0.2dB แถมยังใช้เสียบหรือถอดได้แบบ Plug-and-Play เพื่อการติดตั้งอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช้เวลาในการผลิตนานมากเนื่องจากต้องทำตามสเปกที่สั่งอย่างจำเพาะ อีกทั้งมัดสายที่เชื่อมมาให้แล้วนี้มักมีราคาแพง และต้องวางแผนความยาวของลิงก์อย่างดี เพราะถ้าออกมาได้สายที่สั้นเกินไปก็อาจทำให้เกิดดีเลย์มากขึ้นได้ หรือถ้าได้ออกมาเป็นสายที่ยาวเกินไปก็ต้องหาพื้นที่และวิธีจัดเก็บม้วนสายส่วนที่เหลือ

แม้หัวต่อแบบดูเพล็กซ์ (เช่น หัวต่อแบบ LC, ST, หรือ SC) สามารถเชื่อมต่อสายหน้างานด้วยคีมงับหรือขัดด้วยอีพ็อกซี่แบบเก่า แต่สำหรับมัดสาย MPO แล้ว ทางเลือกเดียวที่ทำได้ก็คือการหลอมสไปซ์สายด้วยสายพิกเทล MPO แบบ Splice-on หรือใช้หัวต่อ MPO แบบ Splice-on เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางเดียวในกรณีมัดสาย MPO ที่ไม่สามารถกำหนดความยาวล่วงหน้าได้ หรือไม่สามารถรอผลิตสายสำเร็จรูปจากโรงงานได้

ข้อควรพิจารณาบางประการ

ขณะที่การสไปซ์สายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในบางกรณี แต่ก็มีข้อควรพิจารณาด้วยเช่นกัน ประการแรกสุดคือ การสไปซ์สายต้องใช้เครื่องเชื่อมสไปซ์สาย (Fusion Splicer) ที่มีราคาสูง ถ้าคุณมีเครื่องเชื่อมสายนี้อยู่แล้วก็โชคดีไป แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อเครื่องเชื่อมสายใหม่แล้ว ก็คงต้องคำนวณให้ดีว่าจะนำไปใช้สไปซ์สายได้จำนวนมากพอที่จะคุ้มกับการซื้อเครื่องหรือไม่? บางทีการเช่าเครื่องสไปซ์สายจากที่อื่นก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเหมือนกันถ้าไม่ได้มีสายให้สไปซ์มากขนาดนั้น

อีกหนึ่งปัจจัยต้องพิจารณาเกี่ยวกับต้นทุนก็คือ เครื่องตัดสาย (Cleaver) เนื่องจากประสิทธิภาพของการสไปซ์ขึ้นกับคุณภาพของหน้าตัดสาย ดังนั้นจึงต้องตัดสายให้เรียบคมอย่างแม่นยำมากที่สุด จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องที่แพงมากเท่าไร ถ้าคุณมีการเชื่อมต่อสายแบบอื่นอย่างการใช้คีมหนีบหรือขัดต่อกาวอีพ็อกซี่อยู่แล้ว ก็น่าจะมีเครื่องตัดสายคมๆ อยู่ในมือแล้วเช่นกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สายที่เชื่อมมาให้สำเร็จรูปที่นำมาติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็วนั้น การมานั่งหลอมสไปซ์เองย่อมใช้เวลามากกว่า แต่ไม่ต้องรอผลิต ไม่ต้องคำนวณความยาวสายตายตัวล่วงหน้า เมื่อมองในภาพรวมก็มองได้ว่าเร็วกว่าเยอะ การสไปซ์สายนั้นต้องมีพื้นที่ทำงานที่มั่นคงแข็งแรงพอ เวลาที่ใช้กับสายพิกเทล Splice-on ก็ต้องคอยจัดสายที่สไปซ์แล้วอย่างระมัดระวัง เรียงปลายสายในถาดให้องศาการโค้งของสายไฟเบอร์ไม่มากเกินมาตรฐาน

และเมื่อต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสไปซ์สาย ก็มีแต่เครื่องระดับ OTDR ที่สามารถบอกตำแหน่งที่สไปซ์บนสายได้ แต่ถ้าคุณมีสายที่สไปซ์แล้วที่มีค่าการสูญเสียพลังงานในสายต่ำมาก ก็อาจอยากจะปรับค่าสเปกการสูญเสียบน OTDR ให้ต่ำมากพอที่จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้เรายังต้องการตรวจวัดค่าเกี่ยวกับการสไปซ์จากทั้งสองฝั่งเพื่อหาค่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าการสูญเสียที่แตกต่างกันจากแต่ละฝั่งของรอยสไปซ์อาจทำให้เกิดค่าการศูนย์เสียเป็นลบในทิศหนึ่ง และเกิดการสูญเสียที่สูงเกินไปในอีกฝั่งหนึ่งได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการทดสอบแบบสองทิศทางจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการทดสอบแบบ Tier 2 โชคดีที่เครื่อง Fluke Networks’ OptiFiber® Pro มีฟีเจอร์ที่บิวท์อินมาด้วยอย่าง SmartLoop Assistant ที่ช่วยทดสอบแบบสองทิศทางได้ง่ายๆ และตั้งค่าเกณฑ์การสูญเสียพลังงานได้ตั้งแต่ 0.01 ถึง 1.50dB เลยทีเดียว

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/101-series-splice-or-not-splice

//////////////////

สมัครสมาชิก Enterprise ITPro เพื่อรับข่าวสารด้านไอที