หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic การต่อขั้วสายไฟเบอร์แบบ A-B-C คืออะไร?

การต่อขั้วสายไฟเบอร์แบบ A-B-C คืออะไร?

แบ่งปัน

เมื่อพูดถึงขั้วแล้ว ย่อมหมายถึงทิศทางการไหลของกระแส อย่างเช่นทิศการวิ่งของสนามแม่เหล็กหรือกระแสไฟฟ้า ซึ่งในแง่ของสายใยแก้วนำแสงแล้วเราจะพูดถึงขั้วสายไฟเบอร์ในรูปของ A-B-C

โดยการที่จะส่งข้อมูลผ่านสัญญาณแสงได้ดีนั้น ลิงค์สายไฟเบอร์จะส่งสัญญาณ (Tx) จากปลายสายเคเบิลด้านหนึ่งที่ต้องจับคู่เข้ากับตัวรับสัญญาณ (Rx) ที่ปลายสายอีกด้านหนึ่ง

แม้หลักการข้างต้นจะชัดเจนอยู่แล้ว แต่เรื่องของขั้วก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความสับสนมากที่สุดในบรรดาช่างเทคนิคด้วยกัน ดังนั้นทาง Fluke จึงมาอธิบายให้เข้าใจตั้งแต่พื้นฐานกันดังต่อไปนี้

เข้าใจดูเพล็กซ์อย่างง่าย
ในการเข้ารหัสสัญญาณหรือดูเพล็กซ์บนสายไฟเบอร์ อย่างเช่นระดับ 10 กิกะบิตนั้น จะมีการรับส่งข้อมูลแบบสองทิศทางบนสายไฟเบอร์สองเส้น ที่แต่ละเส้นเชื่อมต่อกับตัวส่งสัญญาณที่ปลายด้านหนึ่ง และเชื่อมกับตัวรับสัญญาณที่ปลายอีกด้านหนึ่ง ซึ่งบทบาทของขั้วนั้นเพื่อทำให้มั่นใจว่ายังรักษาการเชื่อมต่อดังกล่าวไว้ได้ตลอด

จากภาพด้านล่างนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าฝั่ง Tx (B) ควรเชื่อมต่อกับ Rx (A) อยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านอแดปเตอร์แพ็ตช์พาเนลหรือสายเคเบิลกี่ส่วนกี่องค์ประกอบระหว่างทางในช่องสัญญาณก็ตาม ถ้าเกิดเราไม่สามารถรักษาขั้วแบบนี้ได้ จนทำให้กลายเป็นการเชื่อมต่อระหว่างตัวส่งด้วยกัน (B ไป B) เป็นต้นนั้น ข้อมูลก็ย่อมส่งไม่ไป

เพื่อที่จะช่วยให้เลือกและติดตั้งอุปกรณ์ที่ถูกต้องเพื่อรักษาขั้วเอาไว้ ทางมาตรฐาน TIA-568-C จึงแนะนำกรณีการใช้งานแบบขั้ว A-B สำหรับการดูเพล็กต์บนสายแพ็ตช์คอร์ด ซึ่งสายแพ็ตช์คอร์ดที่ดูเพล็กซ์แบบ A-B นั้นเป็นการเชื่อมต่อตรงๆ ที่รักษาขั้วแบบ A-B บนช่องสัญญาณดูเพล็กซ์ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ หัวต่อสายไฟเบอร์ทุกหัวต่างมีตัวล็อกหรือ Key ไม่ให้สายไฟเบอร์หมุนเปลี่ยนไปหลังจากเชื่อมหัวต่อแล้ว เพื่อรักษาทิศทางของ Tx และ Rx ที่ถูกต้องเอาไว้

ความซับซ้อนที่มากขึ้นเมื่อใช้สายหลายสาย
แม้เรื่องขั้วที่ดูเพล็กซ์บนสายไฟเบอร์จะดูตรงไปตรงมา แต่ก็มักซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อต้องจัดการกับสายเคเบิลและหัวต่อที่ใช้ไฟเบอร์หลายสายแบบ MPO ซึ่งมาตรฐานอุตสาหกรรมได้เรียกวิธีการตั้งขั้วที่แตกต่างกัน 3 แบบบน MPO ว่า Method A, Method B, และ Method C ซึ่งแต่ละแบบก็ใช้สายเคเบิล MPO ที่ต่างกัน

Method A นั้นจะใช้สายทรังก์ MPO แบบ Straight-Through พร้อมกับหัวต่อแบบ Key up ที่ปลายด้านหนึ่ง และหัวต่อแบบ Key down ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง เพื่อทำให้สายไฟเบอร์วางตัวจากตำแหน่ง Position 1 (Tx) วิ่งไปยัง Position 1 (Tx) ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง

ซึ่งการใช้วิธี A ในการดูเพล็กซ์สัญญาณนั้น การจะทำให้ตัวรับ-ส่งสัญญาณพลิกเปลี่ยนจาก Position 1 (Tx) ไปเป็น Position 2 (Rx) จะต้องใช้สายแพ็ตช์คอร์ดที่ปลายด้านหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้สายแพ็ตช์คอร์ด A-A ที่เปลี่ยนสายไฟเบอร์จาก Position 1 ไปเป็น Position 2 ที่อินเทอร์เฟซบนอุปกรณ์

ส่วน Method B จะใช้หัวต่อแบบ Key up ที่ปลายทั้งสองฝั่งเพื่อให้ได้ทิศทางแบบ ตัวส่ง-ตัวรับ ทำให้สายไฟเบอร์จากตำแหน่ง Position 1 (Tx) วิ่งไปยัง Position 12 (Rx) ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง ส่วนสายที่อยู่ตำแหน่ง Position 2 (Rx) ก็จะวิ่งไปยังตำแหน่ง Position 11 (Tx) ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งในการดูเพล็กซ์นั้น Method B จะใช้สายแพ็ตช์คอร์ดแบบตรง A-B บนปลายสายทั้้งสองด้านเนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ตัวทรานซีฟเวอร์แปลงพลิกสาย ซึ่งการใช้สายแพ็ตช์คอร์ดแบบเดียวกันกับปลายทั้งสองด้านนี้ก็ทำให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับประเภทของสายแพ็ตช์คอร์ดที่จะใช้กับปลายแต่ละด้านอีกต่อไป

Method C ใช้หัวต่อแบบ Key up บนปลายด้านหนึ่ง และแบบ Key down ที่ปลายอีกด้านหนึ่งเหมือน Method A แต่มีการพลิกสายภายในเส้นของมันเองบนแต่ละคู่สาย ทำให้สายไฟเบอร์จากตำแหน่ง Position 1 (Tx) วิ่งไปยัง Position 2 (Rx) ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง และสายไฟเบอร์จาก Position 2 (Rx) ก็จะวิ่งไปยัง Position 1 (Tx) ซึ่งแม้วิธีทำให้การดูเพล็กซ์สะดวกมาก แต่ก็ไม่รองรับกับการใช้งานสายคู่ขนาด 8 สายแบบ 40 และ 100 กิกะบิต ที่สายตำแหน่ง 1, 2, 3, และ 4 ของอินเทอร์เฟซ MPO ส่งสัญญาณออกมา ขณะที่ตำแหน่ง 9, 10, 11, และ 12 เป็นทิศรับสัญญาณเข้า จึงไม่แนะนำวิธีนี้เป็นอย่างยิ่ง

จากการที่มีวิธีวางขั้วสายที่แตกต่างกัน 3 แบบ ที่ต้องใช้สายแพ็ตช์คอร์ดเชื่อมต่อให้ถูกต้องในแต่ละแบบนั้น จึงทำให้มักเกิดความผิดพลาดในการติดตั้งได้ โชคดีที่เครื่องมืออย่าง Fluke Networks’ MultiFiber™ Pro ทำให้ผู้ใช้สามารถทดสอบสายแพ็ตช์คอร์ด ลิงค์ถาวร และช่องสัญญาณแต่ละเส้นได้เพื่อตรวจสอบขั้วให้ถูกต้อง

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/b-c-s-fiber-polarity