สายที่เชื่อมกับอุปกรณ์นั้นถือเป็นส่วนประกอบสำคัญบนเครือข่ายทุกแบบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสายไฟเบอร์จัมเปอร์ที่เชื่อมต่อระหว่างจุดชุมสายกับสวิตช์ในดาต้าเซ็นเตอร์ หรือเป็นสายทองแดงแพ็ตช์คอร์ดบนเครือข่ายแลนที่ไว้เชื่อมต่อออกมายังอุปกรณ์ปลายทางผ่านเต้าเสียบที่ให้บริการในพื้นที่ใช้งาน
โชคไม่ดีที่สายที่ไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้มักกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดบนเครือข่าย เนื่องจากมีการใช้งานเปลี่ยนถ่ายโยกย้ายมากกว่าองค์ประกอบอื่น จนทำให้เสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายมากกว่า นอกจากนี้ยังมักถูกมองข้ามในฐานะอะไหล่สิ้นเปลือง ที่ผู้ใช้บางรายอาจเลือกประหยัดด้วยการซื้อสายจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มา ไม่ทราบกระทั่งคุณภาพหรือการสอดคล้องตามมาตรฐาน
การทดสอบแชนแนล เทียบกับการทดสอบลิงค์ถาวร
ตลอดช่วงความยาวของช่องส่งสัญญาณทั้งหมดที่รวมไม่เกิน 100 เมตรนี้จะประกอบด้วยส่วนที่ยึดคงที่ตายตัว (เช่น ลิงค์ถาวรความยาวประมาณ 90 เมตร) และสายสั้นๆ ที่ไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ (ที่ความยาวรวมกันประมาณ 10 เมตร) แต่การทดสอบลิงค์ถาวรนี้จะไม่ได้ครอบคลุมถึงสายที่ต่อเข้ากับอุปกรณ์ด้วย เป็นกาทดสอบที่มักมองว่าดีที่สุดสำหรับการติดตั้งใหม่ ที่ตรวจสอบครอบคลุมการเชื่อมต่อระหว่างแผงเชื่อมต่อ (Patch Panel) ไม่ว่าจะเป็นแผงชุมสายในดาต้าเซ็นเตอร์ไปจนถึงแผงเชื่อมต่อสายบริเวณจุดเชื่อมต่อ/เต้าเสียบในพื้นที่ใช้งานภายในเครือข่ายแลน
หลายคนคงมีคำถามว่า ถ้าการรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งขึ้นกับประสิทธิภาพของทั้งแชนแนลแล้ว ทำไมถึงทดสอบแค่ส่วนลิงค์ถาวรตรงกลางเวลาติดตั้งใหม่? ก็เพราะเนื่องจากลิงก์ “ถาวร” ไม่ได้มีการเปลี่ยนสายย้ายตำแหน่งบ่อย จึงมองว่าเป็นรากฐานที่แท้จริงของเครือข่าย ถ้าไปทดสอบครอบคลุมทั้งแชนแนล บางทีก็อาจทำให้มองข้ามปัญหาที่เกิดเฉพาะส่วนลิงก์ถาวรที่สำคัญที่สุดนี้ได้
อธิบายเพิ่มเติม การทดสอบตลอดแชนแนลนั้นใช้เกณฑ์ที่เปิดช่องมากกว่าเนื่องจากเผื่อไว้สำหรับค่าตรงสายที่เชื่อมเข้าอุปกรณ์ที่ถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของแชนแนล ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าใช้สายแพ็ตช์คอร์ดที่คุณภาพสูง ก็อาจทำให้ทดสอบทั้งแชนแนลผ่านได้แม้ถ้าทดสอบเฉพาะลิงค์ถาวรตรงกลางจะไม่ผ่านก็ตาม ดังนั้น เมื่อเรามองว่าสายที่ต่อเข้าอุปกรณ์ หรือแม้แต่อุปกรณ์เองจะมีการย้ายที่หรือเปลี่ยนแปลงเสมอ เราจึงจำเป็นต้องทราบให้แน่นอนก่อนว่า ส่วนที่ “ถาวร” ของแชนแนลนั้นทำงานได้ปกติตามเกณฑ์
แต่ไม่ใช่ว่าการที่สายสั้นๆ ที่เอามาต่อกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้อยู่ในการทดสอบลิงค์ถาวรหน้างานแล้วจะสามารถมองข้ามไปได้ด้วย เมื่อมีการทดสอบส่วนลิงค์ที่ติดตั้งถาวรผ่านเรียบร้อยแล้ว ก็ควรทดสอบครอบคลุมทั้งแชนแนลซ้ำด้วยเพื่อตรวจปัญหาที่อาจพบบนสายเชื่อมกับอุปกรณ์ โดยเฉพาะกรณีที่ลูกค้ามักนำสายแพ็ตช์คอร์ดหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน/ได้รับความเสียหายมาใช้ ซึ่งปัญหานี้เกิดบ่อยมากกว่าที่คุณคาดคิด
การทดสอบคุณภาพสายแพ็ตช์คอร์ดแบบทองแดง
เพื่อให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับคุณภาพของสายเคเบิลสั้นๆ ที่ใช้ต่อกับอุปกรณ์ ให้ดูผลการทดสอบของทางสมาคมสายเคเบิลและการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารหรือ CCCA ที่ทำการทดสอบขนานใหญ่ด้านประสิทธิภาพทางไฟฟ้าของสายแพ็ตช์คอร์ดแบบทองแดง แบบ Category 6 ที่ทำสอบไปมากถึง 500 ตัวอย่าง โดยรวมสายจากผู้ผลิตภายนอกสหรัฐฯ และจากรายย่อยรวมกว่า 379 เส้น และอีก 120 เส้นจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงในทวีปอเมริกาเหนือ
ซึ่งจากสายแพ็ตช์คอร์ดนอกสหรัฐฯ ทั้ง 379 เส้นนั้น พบมากถึง 322 เส้นที่ตกการทดสอบค่าพารามิเตอร์ด้านประสิทธิภาพทางไฟฟ้าตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน TIA 568-C.2 โดยที่กว่า 78% ได้ค่าเกินมาตรฐานประมาณ 3dB หรือมากกว่า ขณะที่มีถึง 45% ที่ได้ค่าสูงเกินกว่า 6dB หรือมากกว่า ซึ่งสายแพ็ตช์คอร์ดเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาร้ายแรงบนเครือข่ายเมื่อถูกรวมอยู่ในช่องส่งสัญญาณทั้งหมด ขณะที่สายแพ็ตช์คอร์ดจากผู้ผลิตในอเมริกาเหนือทุกเส้นล้วนผ่านการทดสอบหมด
การทดสอบคุณภาพสายไฟเบอร์จัมเปอร์
ทางฝั่งสายไฟเบอร์ก็พบปัญหาลักษณะเดียวกัน โดยทาง Siemon ได้ทดสอบสายไฟเบอร์จัมเปอร์ที่มีจำหน่ายออนไลน์ทั่วไป ทั้งจากภายในสหรัฐฯ จำนวน 4 แบรนด์ และโรงงานต่างประเทศ รวมทั้งสายจัมเปอร์จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง 5 แบรนด์ (รวมถึง Siemon เองด้วย) ซึ่งทั้งหมดนี้จัดซื้อมาจากผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต
การทดสอบนี้ตรวจวัดค่าการสูญเสียทั้งภายในสาย (Insertion Loss) และการสูญเสียไปกลับ (Return Loss) จากทั้งหมด 36 ตัวอย่างที่สุ่มจากสายจัมเปอร์ Duplex LC แบบมัลติโหมด จากผู้ผลิต 9 ราย โดยใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสองตัวได้แก่ ISO/IEC และ TIA รวมทั้งเกณฑ์ที่เข้มงวดของ Siemon เองอย่างค่า Insertion Loss ภายในสายที่กำหนดอยู่ที่ 0.25dB และค่า Return Loss อยู่ที่ 30dB ซึ่งจากตารางผลการทดสอบด้านล่าง จะเห็นได้ว่ามีแบรนด์ทั่วไปที่ซื้อจากออนไลน์เพียงแบรนด์เดียวที่ผ่านการทดสอบทุกมาตรฐาน นอกจากนี้ในการทดสอบด้านประสิทธิภาพนั้น แบรนด์ออนไลน์ทั่วไปทุกแบรนด์จะไม่ผ่านอย่างน้อย 2 ใน 3 ของค่าพารามิเตอร์สำคัญด้านรูปทรงของหน้าตัดสาย รวมทั้งไม่ผ่านทั้ง 4 พารามิเตอร์ด้านความเสถียรทางกล (อันได้แก่ การดึง โค้งงอ การบิด และการยึดติดกับข้อต่ออย่างแข็งแรง เป็นต้น)
ทาง Siemon ยังทดสอบอีกรอบโดยโดยหันมาใช้หัวต่อ MPO ล่าสุดที่ใช้กับลิงค์ความเร็วสูงกว่าอย่าง 40 และ 100 กิกะบิต ซึ่งพบว่ามีแค่สายจากผู้ผลิตทั่วไปรายเดียวที่ผ่านการทดสอบทั้งตามมาตรฐานอุตสาหกรรมและสเปกภายในของ Siemon ทั้งค่า Insertion Loss และ Return Loss
แล้วข้อมูลนี้บอกอะไรเราได้? ข้อมูลนี้บอกให้รู้ว่าเราควรระวังในการซื้อสายที่จะใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ แบรนด์ที่มาที่เราเลือกนั้นล้วนมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวมเป็นอย่างมาก การเลือกซื้อสายที่ถูกหรือเกรดทั่วไปที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายโดยรวมแพงกว่าที่ควรจะเป็นในระยะยาวได้ ถ้าเกิดสายเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดดาวน์ไทม์และปัญหาการส่งสัญญาณ
การทดสอบสายแพ็ตช์คอร์ดและไฟเบอร์จัมเปอร์ด้วยตัวเอง
นอกจากการทดสอบทั้งแชนแนลหลังจากเชื่อมต่อสายที่ต่อเข้าอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วเพื่อดูว่ามีปัญหากับสายแพ็ตช์คอร์ดหรือจัมเปอร์หรือไม่ เราก็สามารถทดสอบเฉพาะตัวสายแต่ละเส้นเองได้ด้วย ซึ่งถือเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ควรทำในการสุ่มทดสอบสายสั้นๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะถ้าคุณจัดซื้อมาจากผู้ผลิตคนละรายกับระบบสายเคเบิลหลักที่เหลือ
ด้วยอแดปเตอร์ทดสอบสายแพตช์คอร์ด DSX Series Patch Cord Test Adapters ของ Fluke Network คุณสามารถทดสอบสายแพ็ตช์คอร์ดแบบทองแดงทั้งแบบ Category 5e, 6, และ 6A ได้ โดยอแดปเตอร์นี้มีปลั๊กเสียบแบบ RJ45 สามารถตรวจสายแพ็ตช์คอร์ดเทียบมาตรฐานได้ทั้ง TIA-568-C.2 และ IEC 61935-2
ส่วนทางด้านไฟเบอร์จัมเปอร์ การทดสอบก็ทำได้เหมือนตรวจสอบสายใยแก้วนำแสงทั่วไปด้วยชุดทดสอบการสูญเสียพลังงานแสง (OLTS) อย่าง Fluke Networks’ CertiFiber Pro เพียงใช้สายจัมเปอร์อ้างอิงเส้นเดียวในการตั้งค่าอ้างอิง แล้วใช้อแดปเตอร์เชื่อมต่อระหว่างจัมเปอร์กับสายทดสอบอ้างอิง ส่วนปลายสายจัมเปอร์อีกด้านหนึ่งเสียบเข้ากับอุปกรณ์เครื่องวัดอีกฝั่ง ซึ่งจะเป็นการตรวจวัดความสูญเสียเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างสายอ้างอิงกับจัมเปอร์ ส่วนการทดสอบหัวต่ออีกด้านหนึ่งก็ทำได้ง่ายเพียงแค่กลับด้านจัมเปอร์เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจเช็คหน้าตัดของสายไฟเบอร์จัมเปอร์ถึงความสะอาดและสิ่งปนเปื้อนโดยใช้กล้องไมโครสโคปหรือเครื่องตรวจสอบอย่าง FI-7000 InspectorPro ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจหน้าตัดสายโดยเฉพาะด้วย
จะเห็นได้ว่า เรามีวิธีมากมายที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดกับจุดอ่อนที่สุดบนเครือข่ายของคุณนี้ได้
ที่มา : Fluke Networks