ไม่ว่าคุณจะเป็นวิศวกรโรงงานหรือกระบวนการผลิต, เป็นช่างเทคนิค, หรือแม้แต่ช่างไฟฟ้าก็ตาม ปัจจุบันล้วนจำเป็นต้องฝึกปรือความเชี่ยวชาญให้หลากหลายมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของระบบอีเธอร์เน็ตสำหรับอุตสาหกรรมหรือ IE เนื่องจากไม่ช้าก็เร็ว คุณอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากทีมงานคนอื่นที่ไม่ได้มีความรู้รอบด้านครอบคลุมถึงเทคโนโลยีเน็ตเวิร์กที่จำเป็นอย่างนี้ ดังนั้นทาง Fluke Networks จึงออกมาเล่าถึง 10 ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดที่คุณอาจต้องเจอเวลาทำงานกับระบบอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรม พร้อมแนวทางในการระบุและแก้ปัญหา (หรือที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงตั้งแต่แรก) ก่อนที่อาจเกิดผลกระทบจนโรงงานต้องหยุดการทำงานได้ ดังนี้
1. การนำอุปกรณ์อย่างหัวต่อ สายเคเบิล และอุปกรณ์เครือข่ายที่ผลิตขึ้นสำหรับใช้ในสำนักงาน เอามาใช้ในโรงงานแทน
แม้อุปกรณ์ระดับคอนซูเมอร์หรือสำหรับสำนักงานหลายอย่างจะสามารถทำงานร่วมกับระบบอีเธอร์เน็ตในอุตสาหกรรมได้ แต่คำถามตามมาคือ อุปกรณ์เหล่านี้จะทนทานไปได้นานแค่ไหน? เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้อุตสาหกรรมย่อมไม่พร้อมต่อสภาวะแรงสั่นสะเทือน, ความชื้น, สัญญาณไฟฟ้ารบกวน, สารเคมี และอื่นๆ ที่พบเจอในโรงงาน ซึ่งคนที่รอบคอบพอจะตระหนักได้ถึงจุดนี้ ขณะที่บางครั้งก็มีคนพลาดในการนำอุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมมาใช้ติดตั้งอย่างรวดเร็วเพื่อให้รีบรันระบบได้หรือแก้ปัญหาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หลายคนมักมองข้ามจุดนี้ จึงควรระลึกเสมอว่าเราควรหลีกเลี่ยงการนำอุปกรณ์ที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมาใช้กับระบบอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมของคุณ
2. การลากสายเคเบิลโดยไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน
สายเคเบิลบางประเภทถูกออกแบบมาให้สามารถทนต่อสภาวะเลวร้ายทุกประเภทตามหลัก MICE (แรงทางกล, แรงบิด, สภาพอากาศ, และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) จึงทำให้คุณอาจไม่ต้องระวังอะไรมากเวลาลากสายเคเบิล แต่ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว สายเคเบิลก็มักมีข้อจำกัดที่คุณจะต้องพึงระลึกและระวังไว้เสมอเวลาเดินสาย ไม่ว่าจะเป็นจุดที่ลากผ่านนั้นใกล้กับแหล่งกำเนิดสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนมากเกินไปหรือไม่? มีพื้นที่ที่ร้อนเกินไป หรือสัมผัสกับสารเคมีกัดกร่อน หรือโดนน้ำ? ประเด็นที่น่ากลัวที่สุดสำหรับความผิดพลาดในข้อนี้คือ สายเคเบิลที่ลากผิดที่จะยังทำงานได้เหมือนปกติในช่วงแรกจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ระบบเชื่อมต่อล้มเหลวในที่สุด
3. ไม่ได้ทำฉลากติดระบุสายเคเบิลระหว่างติดตั้ง
ขณะที่ในโรงงานนั้นมีข้อกำหนดและมาตรฐานที่ต้องติดป้ายกำกับตามท่อต่างๆ นั้น สายเคเบิลก็มีมาตรฐานที่ต้องติดฉลากเช่นเดียวกัน (ดูตามมาตรฐาน TIA 606-B) แม้สาเหตุจะไม่ใช่เรื่องความปลอดภัย แต่ก็เพื่อป้องกันการเสียเวลาและความสับสน การที่ทราบว่าสายเคเบิลแต่ละเส้นลากมาจากไหนไปทางไหนนั้นสามารถประหยัดเวลาเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหรือการอัพเกรดระบบ
4. ไม่ได้ทดสอบสายเคเบิลก่อนติดตั้งสายใหม่
การตรวจสอบความถูกต้องของสายเคเบิลจะช่วยประหยัดเวลาได้หลายชั่วโมงเวลาติดตั้งหรือเริ่มใช้ระบบใหม่ อีกทั้งการตรวจสอบสายเคเบิลอย่างรวดเร็วเหล่านี้ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาที เทียบกับเวลาเกิดปัญหาอย่างเช่นหัวต่อที่เข้าหัวไม่ดี หรือสายเคเบิลที่ลากยาวเกินไปนั้นล้วนต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานมาก จนทำให้เกิดคอขวด ทำให้โปรเจ็กต์ล่าช้าไปได้
5. ไม่ได้ทดสอบค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสายเคเบิลอย่างครอบคลุม
การทดสอบสายเคเบิลพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 นั้นแม้จะทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถติดตั้งสายเคเบิลได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้งานได้ดีมากเพียงใด ผู้ทดสอบชั้นสูงจะตรวจพารามิเตอร์อีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Crosstalk (ที่กระทบกับทรูพุตของสายเคเบิล), ค่าความต้านทานและความสูญเสียของสัญญาณขากลับ (ที่บอกได้ว่าหัวต่อนั้นอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนหรือความชื้น), และความสูญเสียจากคลื่นรบกวนทางขวาง (ที่บ่งชี้ถึงคลื่นรบกวนจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า) การตรวจให้แน่ใจว่าสายเคเบิลได้ประสิทธิภาพตามมาตรฐานในค่าพารามิเตอร์เหล่านี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าสายเคเบิลจะทำงานได้ดีไม่ใช่แค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังดีต่อเนื่องไปถึงอนาคตด้วย
6. ใช้ “การต่อความยาวสายแบบดิจิตอล”
บ่อยครั้งที่มีการซ่อมสายเคเบิลอย่างรวดเร็ว (แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร) ด้วยการเชื่อมต่อกับสวิตช์ Unmanaged อย่างง่ายในช่วงกลางของลิงค์ แล้วจึงต่อสายเคเบิลอีกทีไปยังอุปกรณ์ปลายทาง ถึงแม้การแก้ปัญหาแบบนี้จะได้ผลในระยะสั้น แต่ก็สร้างจุดที่เสี่ยงต่อการที่ลิงค์ล้มเหลวได้ โดยเฉพาะถ้าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับสำนักงานหรือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับคอนซูเมอร์ นอกจากนี้ การเชื่อมต่อลักษณะดังกล่าวยังทำให้ไม่สามารถควบคุมอุปกรณ์นั้นได้ ทำให้เกิด “จุดบอด” ของระบบจัดการเครือข่าย หรือเป็นอุปสรรคต่อช่างเทคนิคที่จะเข้าไปแก้ปัญหา
7. เชื่อ “ไฟ LED บนลิงค์” มากเกินไป
เวลาเสียบสายเคเบิลกับอุปกรณ์แล้วเห็นไฟ LED สว่างขึ้นมานั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ไม่ใช่การการันตีว่าลิงค์สื่อสารนี้ทำงานได้ปกติ หรือใช้งานได้จริงๆ ไฟที่ขึ้นบนลิงค์นี้อาจแค่บ่งชี้ว่าพอจะสื่อสารกันได้บ้าง หรือทำงานได้เพียงเล็กน้อยก็ได้ เรียกว่าแทบบอกสัดส่วนความผิดพลาดของการสื่อสารที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเน็ตเวิร์กล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์ที่เห็นไฟบนพอร์ตสว่างแต่ลิงค์ไม่ทำงานหรือเชื่อมต่อไม่ได้เลย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพวกเขาจึงไม่เชื่อไฟ LED นี้ ซึ่งคุณก็ไม่ควรเอาแต่พึ่งไฟเหล่านี้เหมือนกัน
8. แก้ปัญหาด้วยวิธี “เดาสุ่มไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ”
เมื่อระบบเครือข่ายอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมของคุณหยุดทำงาน หลายคนมักเริ่มแก้ปัญหาด้วยการไล่เดา ไม่ว่าจะเป็นการถอดสายออกเสียบสายใหม่ เปลี่ยนรูสวิตช์เสียบ หรือไปจนถึงลากสายเคเบิลเส้นใหม่ เปลี่ยนคอนโทรลเลอร์ เป็นต้น แต่แนวทางการเดาที่ไร้ระเบียบเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เริ่มจากการเสียเวลามากกับการดำเนินการซ่อมในจุดที่ไม่ได้เสีย ประการต่อมา การหาอุปกรณ์ใหม่มาใช้แทนอันเดิมที่ไม่ได้เสียก็สร้างค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก และสุดท้ายที่เลวร้ายที่สุดคือ ถึงระบบการสื่อสารจะกลับมาเป็นปกติ คุณก็จะยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงอยู่ดี เวลาที่เกิดปัญหาใหม่อีกครั้งก็ต้องเสียเวลาเดาสุ่มใหม่หมด
9. ไม่ได้เตรียมตัวป้องกันสาเหตุที่พบบ่อยของความล้มเหลวของระบบอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรม
จากผลการศึกษาชี้ว่า ต้นเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดของปัญหาระบบอีเธอร์เน็ตในอุตสาหกรรมก็คือ เรื่องของสายเคเบิลและหัวต่อ ซึ่งข่าวดีคือ แค่ลงทุนเพียงเล็กน้อยคุณก็สามารถหาต้นตอและเข้าซ่อมได้ตรงจุด ดังนั้น การมีอุปกรณ์ทดสอบสายเคเบิลที่แม้จะเป็นรุ่นพื้นฐานอยู่ในมือพร้อมใช้หน้างานนั้น ไม่เพียงทำให้หาสายเคเบิลที่เกิดความผิดพลาด (หรือรู้ว่าสาเหตุของปัญหาจริงๆ ไปอยู่ที่ไหนอื่น) แต่ยังสามารถตำแหน่งบนสายที่เกิดปัญหาได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดตรงหัวต่อ การมีอุปกรณ์เข้าหัวและเปลี่ยนหัวต่อ (หรือแม้แต่สายเคเบิลสำรอง) พร้อมที่หน้างานจะช่วยประหยัดเวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวันเมื่อเทียบกับการเสียเวลาออกไปซื้อใหม่ หรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดู
10. การมองข้ามการทำความสะอาดและตรวจสอบสายไฟเบอร์
ถ้าระบบอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมของคุณมีสายใยแก้วนำแสงด้วย คุณคงจะทราบดีว่าสาเหตุของปัญหาสายไฟเบอร์ที่พบมากที่สุดก็คือหน้าตัดหัวต่อที่สกปรก ซึ่งมักเกิดได้ง่ายกว่าปกติเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรกหรือเต็มไปด้วยฝุ่นอย่างในโรงงาน การที่สายไฟเบอร์มักถูกนำมาใช้สื่อสารข้อมูลปริมาณมากกว่า และมักใช้กับลิงค์ที่สำคัญมาก ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงอาจสร้างปัญหาใหญ่อย่างที่ไม่เคยคาดคิดได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการตรวจสอบ และทำความสะอาดสายถ้าจำเป็น หมั่นตรวจสายไฟเบอร์ซ้ำเมื่อมีการถอดหรือนำมาเชื่อมต่อใหม่เสมอ
ที่มา : Fluke Networks