หน้าแรก Vendors F5 Networks 10 ความผิดพลาดที่พบบ่อย ด้านอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรม

10 ความผิดพลาดที่พบบ่อย ด้านอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรม

แบ่งปัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นวิศวกรด้านโปรเซสหรือโรงงาน เป็นช่างเทคนิค หรือแม้แต่ช่างไฟ ตอนนี้ก็ต้องมีความรู้หลากหลายด้านกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในด้านอีเธอร์เน็ตระดับอุตสาหกรรมหรือ IE ไม่แน่ว่าอีกไม่นาน คุณอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายอย่างครอบคลุมเพียงพอ

ดังนั้นทาง Fluke จึงสรุปปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด 10 ข้อที่คุณอาจต้องเจอเวลาทำงานเกี่ยวข้องกับอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรม ที่ควรรีบค้นหาและแก้ไข (หรือดีกว่านั้นคือพยายามหลีกเลี่ยง) ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดดาวน์ไทม์ทั้งโรงงานได้

1. ใช้หัวต่อ สายเคเบิล หรืออุปกรณ์ด้านเน็ตเวิร์กเกรดที่ใช้กับตามสำนักงานทั่วไป
แม้อุปกรณ์ระดับคอนซูเมอร์หรือสำนักงานจะใช้งานกับเครือข่ายอีเธอร์เน็ตในอุตสาหกรรมได้ แต่คำถามที่ตามมาคือ จะใช้ต่อได้อีกนานเท่าไร? เนื่องจากอุปกรณ์เกรดทั่วไปนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้ทนทานต่อการสั่นสะเทือน ความชื้น คลื่นไฟฟ้ารบกวน สารเคมี และสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายอื่นๆ ในโรงงาน ซึ่งแม้ช่างระดับมืออาชีพจะตระหนักเรื่องนี้ดี แต่ก็มักมีบางโอกาสที่รีบแก้ปัญหาด้วยการใช้อะไหล่เกรดทั่วไปมาซ่อมให้พอใช้ไปได้ก่อน ซึ่งกรณีพวกนี้ก็มักโดนลืมไปได้ง่าย เราจึงแนะนำอย่างยิ่งว่าควรเลือกใช้แต่เกรดอุตสาหกรรมแม้จะเป็นกรณีดังกล่าวจะดีที่สุด

2. ลากสายเคเบิลโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน
แม้สายเคเบิลบางแบบถูกออกแบบให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายตามหลัก MICE (แรงทางกล สิ่งปนเปื้อน สภาพอากาศ และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) จนสามารถลากสายโดยไม่ต้องคิดมากเท่าไร แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีข้อจำกัดบางอย่างที่คุณต้องคำนึงถึงเวลาเดินสายอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนหรือไม่? อยู่ในพื้นที่ที่ร้อนเกินหรือสัมผัสกับสารเคมีกัดกร่อนสูง หรือสัมผัสกับน้ำตลอดไหม? ซึ่งจุดที่อันตรายที่สุดสำหรับปัญหานี้คือ สายเคเบิลดังกล่าวอาจจะยังทำงานได้ตามปกติจนกว่าสิ่งรบกวนจะสะสมจนทำให้สายพังแบบไม่ทันตั้งตัว

3. ไม่ได้ติดป้ายชื่อกำกับสายตอนติดตั้ง
เหมือนกับมาตรฐานที่โรงงานจำเป็นต้องติดป้ายรหัสกำกับท่อกำกับสายที่เกี่ยวข้องทุกเส้น เช่นเดียวกับสายเคเบิล (ตามมาตรฐาน TIA 606-B) แม้ปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรง แต่ก็ทำให้เสียเวลาและเสียอารมณ์ได้มาก การที่เราทำให้ทราบว่าสายเคเบิลแต่ละเส้นลากไปทาง เชื่อมต่อกับอะไรนั้น สามารถประหยัดเวลาได้มากเวลาที่ต้องแก้ปัญหาหรืออัพเกรดระบบ

4. ไม่ได้ทดสอบสายเคเบิลก่อนนำไปติดตั้ง
การตรวจความถูกต้องของสายเคเบิลจะช่วยประหยัดเวลาไปได้หลายชั่วโมงเวลาที่ต้องติดตั้งและเริ่มใช้งานระบบใหม่ เมื่อเทียบกับการตรวจสอบสายเคเบิลที่ตอนนี้รวดเร็วมากเพียงแค่ไม่กี่วินาทีแล้ว การปล่อยให้เกิดปัญหาอย่างเช่นการเข้าหัวไม่ดี หรือลากสายเคเบิลยาวเกินไปนั้นกลับใช้เวลาแก้ปัญหานานกว่าหลายชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งคลำหาต้นตอ ไปจนถึงการส่งผลให้โปรเจ็กต์โดยรวมล่าช้า

5. ไม่ได้ทดสอบค่าพารามิเตอร์อื่นเพิ่มเติมของสายเคเบิล
แม้การทดสอบสายเคเบิลแบบพื้นฐานที่อธิบายไปในข้อที่ 4 นั้นจะทำให้มั่นใจได้ว่าสายเคเบิลดังกล่าวได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามีประสิทธิภาพดีมากน้อยอย่างไร ขณะที่เครื่องทดสอบขั้นสูงจะสามารถตรวจวัดพารามิเตอร์ได้เยอะกว่า อย่างเช่นครอสทอล์ก (ที่ส่งผลต่อทรูพุตของสายเคเบิล), ค่าความต้านทานและการสูญเสียของสัญญาณไปกลับ (ที่ทำให้ทราบว่าหัวต่อดังกล่าวอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนหรือความชื้นขนาดไหน), รวมไปถึงค่าการสูญเสียสัญญาณแนวขวาง (ที่บอกถึงการอ่อนไหวต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวน) ซึ่งการตรวจให้แน่ใจว่าสายเคเบิลได้มาตรฐานประสิทธิภาพตามค่าพารามิเตอร์เหล่านี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าสายเคเบิลดังกล่าวจะทำงานได้ดีไม่เพียงแค่ช่วงแรก แต่ยังใช้ดีต่อเนื่องไปจนถึงอนาคตด้วย

6. การเพิ่มความยาวสาย “ด้วยวิธีดิจิตอล”
หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาสายเคเบิลที่ค่อนข้างมักง่ายแต่ก็พบบ่อยคือการเอาสวิชต์ทั่วไปมาเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างลิงค์ แล้วต่อสายอีกเส้นลากไปยังปลายทาง แม้วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ก็เป็นการเพิ่มจุดเสี่ยงที่ทำระบบล่ม (Point of Failure) ด้วย ซึ่งยิ่งเสี่ยงขึ้นไปอีกถ้าใช้อุปกรณ์ที่เป็นเกรดทั่วไปที่ใช้กันในสำนักงานหรือเกรดคอนซูเมอร์ ที่ร้ายกว่านั้นคือ เมื่อใช้วิธีนี้แล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถควบคุมจากศูนย์กลางได้เสมือน “ล่องหน” จากระบบจัดการเครือข่ายโดยรวม หรือถูกลืมจากช่างเทคนิคที่เข้ามาแก้ปัญหาได้

7. เชื่อแต่ “ไฟ LED สีเขียว”
การเชื่อมต่อสายเคเบิลเข้ากับอุปกรณ์แล้วเห็นไฟ LED ที่กำกับลิงค์สว่างนั้นมักทำให้เราสบายใจ แต่ก็ไม่ใช่การการันตีว่าลิงค์ที่ใช้สื่อสารดังกล่าวจะทำงานได้ปกติ หรือแม้แต่จะใช้สื่อสารทั่วไปได้ เนื่องจากไฟ LED ดังกล่าวก็จะยังสว่างอยู่ทั้งกรณีที่สื่อสารได้ปกติ และกรณีที่แทบจะสื่อสารกันไม่ได้เลย เรียกว่าแทบพิสูจน์อะไรไม่ได้ถ้ายังไม่ถึงจุดที่สัญญาณขาดกันจริงๆ ดังนั้นช่างเทคนิคด้านเครือข่ายที่ผ่านงานมานานจึงมักพบกับกรณีที่ไฟสว่างแต่ลิงค์ไม่ทำงานหรือแม้แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเลยด้วยซ้ำ ทำให้พวกเขาไม่มานั่งเชื่อถือไฟแสดงสถานะนี้ คุณก็ควรเลิกพึ่งพาไฟนี้ในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน

8. ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ “เปลี่ยนอะไหล่เดาไปเรื่อยๆ”
เวลาที่ระบบเครือข่ายอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมของคุณหยุดทำงานนั้น คุณอาจจะรู้สึกดีในการเริ่มแก้ไขด้วยวิธีกายภาพพื้นฐาน “แบบสุ่ม” เช่น ลองถอดสายเสียบใหม่ ลองเปลี่ยนพอร์ตสวิตช์ เอาสายเคเบิลใหม่มาลากดู ลองเปลี่ยนคอนโทรลเลอร์ใหม่ ฯลฯ แต่จริงๆ แล้ววิธีที่ไม่มีหลักเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาใหม่มากมาย เริ่มจากการเสียเวลาเป็นอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาในจุดที่ไม่ใช่ปัญหา ประการที่สอง ก็ดูเปลืองเงินเกินไปถ้าเอะอะเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ โดยเฉพาะถ้าอุปกรณ์นั้นไม่ได้เสีย และประการสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดคือ เนื่องจากคุณก็จะยังไม่ทราบว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร แต่เมื่อฟลุคที่เครือข่ายกลับมาสื่อสารได้ปกติอีกครั้ง ก็จะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าได้แก้ไขต้นเหตุจริงๆ ไปแล้ว หรืออาจจะกลับมาเสียอีกในวันพรุ่งนี้

9. ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับสาเหตุของปัญหาอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมที่พบบ่อย
มีงานวิจัยระบุว่า สาเหตุหลักของระบบอีเธอร์เน็ตในอุตสาหกรรมล่มนั้นมาจากสายเคเบิลและหัวต่อ ซึ่งดีที่การลงทุนที่ไม่มากก็สามารถช่วยให้คุณรู้ต้นเหตุและแก้ไขได้ตรงจุดขึ้น อย่างเช่นการมีเครื่องทดสอบสายเคเบิลประจำอยู่ที่หน้างาน แม้จะเป็นรุ่นพื้นฐานก็ตาม ไม่เพียงช่วยตรวจว่าสายเคเบิลมีปัญหาจริงไหม (ถ้าไม่มี ก็ทำให้คุณเอาเวลาไปหาสาเหตุจริงๆ ที่จุดอืนได้) แต่ยังช่วยบอกคุณได้ว่าปัญหาเกิดที่ตำแหน่งไหนด้วย และเนื่องจากปัญหามักเกิดตรงบริเวณหัวต่อ การมีอุปกรณ์เข้าหัวและหัวต่อสำรองเตรียมไว้ (หรือแม้แต่สายเคเบิลสำรอง) ที่หน้างานก็จะช่วยประหยัดเวลาหลายชั่วโมงหรือแม้แต่หลายวันได้เมื่อเทียบกับการหาจัดซื้อใหม่ หรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดู

10. การมองข้ามการตรวจสภาพและทำความสะอาดสายไฟเบอร์
ถ้าระบบอีเธอร์เน็ตอุตสาหกรรมของคุณมีสายใยแก้วนำแสงอยู่ด้วย ก็ต้องคำนึงเสมอว่าสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความล้มเหลวในระบบสายไฟเบอร์ก็คือความสกปรกของหน้าตัดสายบริเวณหัวต่อ ซึ่งมักร้ายแรงขึ้นอีกในสภาพแวดล้อมที่สกปรกหรือเต็มไปด้วยฝุ่นละอองอย่างในโรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น จุดที่เรามักเลือกใช้สายไฟเบอร์มาเชื่อมต่อก็มักเป็นการสื่อสารข้อมูลปริมาณมากกว่า หรือสำคัญมากกว่าจุดอื่น ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบร้ายแรงกว่าด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการคอยตรวจสอบ และทำความสะอาดบริเวณจุดเชื่อมต่อสายไฟเบอร์เมื่อจำเป็น รวมทั้งตรวจสอบใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการเชื่อมต่อใหม่

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/ten-dumb-industrial-ethernet-mistakes-smart-people-make