หน้าแรก Vendors COMMSCOPE RUCKUS โลกของ Switching ยุคใหม่: ทำไมเครือข่ายองค์กรถึงต้องก้าวมาใช้ 100GbE?

โลกของ Switching ยุคใหม่: ทำไมเครือข่ายองค์กรถึงต้องก้าวมาใช้ 100GbE?

แบ่งปัน

เครือข่ายในองค์กรกำลังได้รับแรงกดดันอย่างหนัก โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราได้เห็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อย่างกว้างขวางที่ทาง IDC เรียกว่า 3rd Platform ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์พกพาที่เห็นกันทั่วไปแล้วในปัจจุบัน การพึ่งพาแอพพลิเคชั่นบนคลาวด์มากขึ้นเพื่อให้บริการที่สำคัญต่างๆ ไปจนถึง Internet of Things ซึ่งองค์กรทั้งหลายต่างมองหาวิธีในการปฏิรูปทางดิจิตอลเพื่อรับเอาเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้มาใช้ แต่บ่อยครั้งที่เครือข่ายแบบเก่าที่มีอยู่เดิมกลายเป็นอุปสรรคในการรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามา การปฏิรูปทางดิจิตอลจึงต้องมาจากการปฏิรูปเครือข่ายขององค์กรก่อน โดยเร่งการนำแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานใหม่เข้ามาใช้งาน

ปัจจัยข้างต้นนี้จึงผลักดันให้องค์กรต่างๆ พิจารณาเลือกสวิตช์กิกะบิตอีเธอร์เน็ตที่เร็วกว่าเดิม แม้หลายองค์กรมักใช้คอร์สวิตช์อยู่ที่ 10 – 40 GbE และสวิตช์ระดับ Aggregation อยู่ที่ 16GbE ก็ตาม แต่ด้วยอุปกรณ์เครือข่ายและแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการแบนด์วิธพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 100GbE นอกจากนี้ หลายองค์กรยังต้องการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น สามารถจัดการโพลิซีบนเครือข่ายทั้งแบบใช้สายและไร้สายได้จากศูนย์กลาง รวมทั้งสามารถควบคุมด้านความปลอดภัยได้อย่างละเอียด มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เรียกได้ว่าปัญหาทั้งหลายที่องค์กรกำลังเผชิญเกี่ยวกับเครือข่ายได้มาถึงจุดอิ่มตัวที่พร้อมลงทุนครั้งใหม่แล้ว โดยเฉพาะการลงทุนกับแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่คาดหวังให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดทั่วทั้งเครือข่ายขององค์กรในอีกหลายปีข้างหน้า

ปัญหาด้านเน็ตเวิร์กที่องค์กรกำลังเผชิญ

มีหลายปัจจัยมากที่รวมกันมาเป็นภาระให้เครือข่ายขององค์กรในปัจจุบัน แม้ปัจจัยดังกล่าวจะมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ประเด็นที่มีผลกระทบชัดเจนมากที่สุดก็คือเรื่องของขนาดระบบที่ต้องรองรับ อันเกิดจากจำนวนผู้ใช้และอุปกรณ์บนเครือข่ายที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จนแทบจะกล่าวได้ว่า กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ทั้งพนักงานและบุคคลภายนอกจะเชื่อมต่อจากอุปกรณ์พร้อมกันหลายเครื่องเข้ามายังเครือข่ายขององค์กร มาใช้ทรัพยากรบนเครือข่ายทั้งหมดพร้อมกัน และนอกจากจะมีอุปกรณ์จำนวนมหาศาลเข้ามารุมถลุงทรัพยากรบนเครือข่ายแล้ว แอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็ยังมีความต้องการมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นที่ใช้แบนด์วิธมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มประสานงานผ่านวิดีโอ ที่สร้างทราฟิกข้อมูลปริมาณมากจนกินทรัพยากรส่วนใหญ่บนเครือข่าย ที่ควรใช้โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิลมารองรับ ยิ่งมีความก้าวหน้าทางด้านมาตรฐานเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมาก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้ทวีความร้ายแรงมากขึ้น อย่างการเปิดตัว Wi-Fi 6 (802.11ax) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพของทราฟิกเครือข่ายไร้สายภายในองค์กร รองรับรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ มากมาย พร้อมกับสร้างภาระให้เครือข่ายเดิมมากขึ้นไปอีก

การจะก้าวทันความก้าวหน้าทั้งหลายเหล่านี้ องค์กรต่างๆ ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านเครือข่ายอีเธอร์เน็ตจากระดับกิกะบิตขึ้นมาสู่หลายกิกะบิตสำหรับระดับ Access และการเปลี่ยนขึ้นมาสู่ระดับ 40GbE และ 100GbE สำหรับระดับ Aggregation และ Core ตามลำดับ ซึ่งกระแสนี้คาดว่าจะยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า

รูปที่ 1: พยากรณ์การลงทุนด้านสวิตช์อีเธอร์เน็ตทั่วโลกในช่วงปี 2018 – 2023 อิงตามระดับความเร็ว (หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์ฯ) แหล่งข้อมูล: รายงาน Datacenter Network QView ประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 จาก IDC
ความต้องการในยุคถัดไปของเน็ตเวิร์ก

การที่จะพิชิตอุปสรรคที่มีผลต่อความต้องการทางธุรกิจยุคใหม่นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนโฉมระบบเครือข่ายระดับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่จะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานจากแบบกิกะบิตไปสู่ระดับหลายกิกะบิต หรือการปรับเปลี่ยนมาตรฐานของอุปกรณ์สวิตช์ (ดังรูปที่ 2) โดยเครือข่ายต่างๆ กำลังลดความซับซ้อนลงจาก 3 ระดับ มาเป็นแบบ 2 ระดับ ที่หันมาใช้สถาปัตยกรรมแบบลำต้นแตกแขนงเป็นกิ่งไม้เหมือนกับดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ทำให้ขยายระบบออกไปได้ในวงกว้างขณะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากสายไฟเบอร์ที่มีอยู่เดิมได้

รูปที่ 2: คาดการณ์สัดส่วนพอร์ตบนสวิตช์อีเธอร์เน็ตในช่วงปี 2017 – 2023 แบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ แหล่งข้อมูล: รายงานพยากรณ์สวิตช์อีเธอร์เน็ตประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ของ IDC

องค์กรทั้งหลายมีความต้องการมากมายเวลาพิจารณาที่จะเปลี่ยนโฉมระบบเน็ตเวิร์กใหม่ แต่องค์ประกอบที่สำคัญจริงๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ควรมีนั้นได้แก่

• การที่องค์กรจำเป็นต้องรองรับความเร็วและปริมาณข้อมูลที่เพียงพอในปัจจุบัน อย่างคอร์สวิตช์ที่มีแบนด์วิธแค่ 10GbE อาจไม่พอแล้วสำหรับเครือข่ายของหลายองค์กร โดยองค์กรชั้นนำต่างมองแพลตฟอร์มระดับ 25GbE, 40GbE หรือแม้แต่ 100GbE แทนทั้งสิ้น

• เมื่อวางระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่นั้น ประเด็นที่ควรพิจารณาอย่างแรกๆ คือด้านความปลอดภัย โดยแพลตฟอร์ม Switching ยุคใหม่ควรรองรับการเข้ารหัสแบบ MACsec ได้ถึง 128 หรือ 256 บิต รวมทั้งให้การควบคุมด้านความปลอดภัยได้อย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการโจมตีแบบ DHCP Snooping หรือตรวจสอบ Dynamic ARP ได้ ไปจนถึงการป้องกันการโจมตีแบบ Denial-of-Service, การล็อก MAC Address, และให้ระบบความปลอดภัยหลายระดับหลายรูปแบบด้วยกัน

• สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านความเสถียรและการรองรับการขยายระบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่เน้นความต่อเนื่องในการทำงานสูงด้วยระบบ Failover ที่แทบไม่มีช่องโหว่, การอัพเกรดซอฟต์แวร์ระหว่างทำงานได้ (ISSU) และการสำรองระบบ, การสลับเปลี่ยนพาวเวอร์ซัพพลายและพัดลมได้ระหว่างทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับลูกค้าระดับองค์กร

• ผู้ซื้อระดับองค์กรเริ่มมองหาแพลตฟอร์มจัดการที่ผสานการควบคุมทั้งเครือข่ายมีสายและไร้สายร่วมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดใช้งาน การยืนยันตน การเข้าถึงทั้งผู้ใช้และอุปกรณ์ รวมทั้งโพลิซีการใช้งาน เช่นเดียวกับความสามารถจากศูนย์กลางทั้งการมองเห็น การตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล

• องค์กรทั้งหลายต่างมองการปรับแต่งเครือข่ายให้เข้ากับความต้องการที่จำเพาะของตัวเอง ดังนั้นองค์ประกอบที่จะมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานเน็ตเวิร์กสำหรับองค์กรสมัยใหม่ก็ควรจะรองรับการผสานความสามารถเพิ่ม การขยายระบบ และมีความยืดหยุ่นด้วย ซึ่งสวิตช์ที่เปิดรับการผสานการทำงานเพิ่มหรือ Stackable ทั้งระดับคอร์และ Aggregation จะเพิ่มความสามารถ และอำนวยความสะดวกในการจัดการจากศูนย์กลาง และไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในที่เดียวกัน

• ข้อมูลได้กลายเป็นสิ่งมีค่าสำหรับธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายยุคใหม่มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยให้องค์กรรวบรวมข้อมูลเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนสภาพแวดล้อมการทำงานของตัว ช่วยตรวจสอบเทรนด์จากข้อมูลในอดีตในการทำนายลักษณะการใช้งานในอนาคต เช่นเดียวกับให้มุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับประเภทแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้และอุปกรณ์กำลังใช้งานบนเครือข่าย และวัตถุประสงค์ในการใช้งานบนเครือข่าย การได้ข้อมูลกิจกรรมเกี่ยวกับลูกค้าและบุคคลภายนอกบนเครือข่ายนั้นทำให้มีโอกาสสร้างรายได้ใหม่มากขึ้น แต่ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้กลไกการรวบรวมผ่านระบบอนาไลติก และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ

• ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มจัดการเครือข่ายผ่านคลาวด์มากมายที่เปิดให้องค์กรสามารถใช้งานจากศูนย์กลางได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุม ตรวจสอบ หรือวิเคราะห์เครือข่ายในองค์กรจากแพลตฟอร์มบนคลาวด์โดยตรง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่ต้องการลดจำนวนทีมด้านไอที หรือมีระบบกระจายตามสาขาจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการจากศูนย์กลางเดียวกัน

• หนึ่งในประโยชน์ของแพลตฟอร์มจัดการเครือข่ายผ่านคลาวด์ก็คือ ความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ด้วยโมเดลการจัดซื้อตามปริมาณการใช้งาน ที่จ่ายเพียงแค่ความสามารถในการจัดการเครือข่ายที่จำเป็นได้ ซึ่งตอนนี้มีผู้ให้บริการหลายเจ้าต่างเสนอโมเดลการชำระเงินตามการใช้งานจริงสำหรับแพลตฟอร์มจัดการเครือข่ายแบบ On-Premise ด้วย

โมเดลใหม่ในการออกแบบเครือข่ายขององค์กร

องค์กรในปัจจุบันมีทางเลือกมากมายในการออกแบบเครือข่ายองค์กรของตัวเอง แม้จะมีฟีเจอร์หลักๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นเกณฑ์ที่องค์กรส่วนใหญ่กำลังมองหาในเครือข่ายยุคใหม่ก็ตาม แต่ก็มีโมเดลสถาปัตยกรรมทางเลือกเพิ่มขึ้นมาหลากหลายแบบสำหรับออกแบบเครือข่ายขององค์กรด้วย

เมื่อก่อนนั้น เราเคยยึดติดกับมาตรฐานการออกแบบเครือข่ายแบบลำดับชั้นที่ต้องมี 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ Core, Aggregation, และ Access แต่ตอนนี้มีโมเดลใหม่ๆ เกิดขึ้นมาที่เปิดให้ปรับแต่งเข้ากับความต้องการที่จำเพาะขององค์กรได้มากขึ้น

ตัวอย่างการออกแบบสถาปัตยกรรมเครือข่ายระดับองค์กรยุคใหม่นั้น ได้แก่
• Multi-Chassis Trunking (MCT): สถาปัตยกรรมนี้เป็นการเชื่อมต่อสวิตช์สองตัวที่อยู่แยกกัน เพื่อสร้างเป็นหน่วยรวมศูนย์กลางการเชื่อมต่อแบบลอจิคัล แล้วแตกแขนงออกไปในรูปแผนผังกิ่งไม้ไปยังระดับ Aggregation และ Access ตามลำดับ ถือเป็นการวางระบบแบบ Active-Active ที่ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สามารถรองรับการขยายเครือข่ายได้มาก

• Stacking: สถาปัตยกรรมนี้เป็นการเชื่อมต่อสวิตช์สิบกว่าตัวที่ลักษณะเหมือนกันเข้าด้วยกัน ให้สามารถจัดการได้ภายใต้ที่อยู่ไอพีเดียวกัน ทำให้ได้สถาปัตยกรรมแบบ Active-Standby แต่มีความพิเศษที่สำคัญมากตรงที่สวิตช์ทั้งหลายนี้ไม่จำเป็นต้องมาเชื่อมผสานกันหรือ Stack ทางกายภาพ โดยสามารถเชื่อมต่อด้วยกันแบบเวอร์ช่วล จัดการจากศูนย์กลางด้วยกันได้แม้จริงๆ จะมีตำแหน่งห่างกันมากสุดถึง 10 กิโลเมตร รูปแบบการติดตั้งลักษณะนี้เหมาะกับเครือข่ายหลายประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่

• การสร้าง Campus Fabric: กรณีนี้จะเชื่อมต่อสวิตช์เข้าด้วยกันแบบเวอร์ช่วลได้มากถึง 36 ตัว เพื่อสร้างขึ้นเป็นเครือข่ายขนาดกลาง ประกอบด้วยสวิตช์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นเดียวกันก็ได้

ตัวเลือกที่น่าสนใจ: Ruckus Networks

Ruckus ได้เปิดตัวสวิตช์สำหรับ Core และ Aggregation แบบจำนวนพอร์ตหนาแน่นสูง แบบ Next-Gen ในชื่อรุ่น ICX 7850 ที่รองรับได้ทั้ง 10/25/40/100GbE แต่ละสวิตช์มี Capacity มากถึง 6.4Tbps สามารถ Stack ซ้อนกันได้มากถึง 12 ตัว จนทำให้ได้แบนด์วิธรวมทั้งหมดหรือ Capacity มากถึง 76.8Tbps รวมทั้งได้จำนวนพอร์ตรวมถึง 288 พอร์ตที่ 100 GbE หรือมากถึง 576|พอร์ตที่ความเร็ว 10/25GbE เมื่อซ้อนสวิตช์กันถึง 12 ตัวด้วย สวิตช์ที่นำมาซ้อนเชื่อมต่อกันนี้สามารถตั้งอยู่ห่างจากกันได้มากถึง 10 กิโลเมตร

สวิตช์ ICX 7850 นี้มาพร้อมกับ Hitless Failover, MCT, และ ISSU ใช้งานร่วมกับสวิตช์อื่นในตระกูล ICX ของ Ruckus ได้อย่างลงตัว ซึ่งทุกโมเดลในกลุ่มนี้ใช้ซอฟต์แวร์ Fastlron เหมือนกัน และจัดการได้ผ่าน Ruckus SmartZone Network Controller ทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น พร้อมทางเลือกในการจัดการเครือข่ายทั้งแบบใช้สายและไร้สายแบบยูนิฟายด์ รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นในการออกแบบวางระบบเครือข่ายขององค์กรด้วย นอกจากนี้ ICX 7850 ยังรองรับ MACsec256 และมีระบบสำรองไฟฟ้าเป็นออพชั่นเสริม ใช้งานได้กับสายเคเบิลอีเธอร์เน็ตมาตรฐานทั่วไป

ความท้าทาย

ตลาดเครือข่ายระดับองค์กรนั้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากหลายองค์กรไม่ได้ยึดติดกับผู้จำหน่ายรายใดรายหนึ่งสำหรับโครงสร้างพื้นฐานบนทุกเลเยอร์ของเครือข่ายองค์กร จึงเป็นผลให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเทคโนโลยีสวิตชิ่งทั้งในระดับ Access, Aggregation, และ Core

ดังนั้น ความสามารถของ Ruckus ICX 7850 ที่รองรับสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างพื้นฐานแตกต่างกันเช่นนี้ได้จึงเป็นผลดีต่อองค์กรอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ดี Ruckus ก็ยังต้องแข่งกับผู้จำหน่ายด้านเน็ตเวิร์กรายก่อนหน้าที่มีบทบาทกับระบบดั้งเดิมขององค์กรอยู่ดี ถือว่าเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับ Ruckus ในฐานะบริษัทที่มีองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการแข่งกับผู้จำหน่ายรายอื่น ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งระบบสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเครือข่ายระดับองค์กร

บทสรุป

Ruckus ได้นำ ICX 7850 เข้าสู่ตลาดได้ในเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากกำลังมีกระแสความต้องการอย่างมากในด้านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายแบบใหม่สำหรับองค์กร ความต้องการด้านเครือข่ายนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากจำนวนผู้ใช้ อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่นที่เพิ่มขึ้นจนสร้างภาระให้แก่ทรัพยากรบนเครือข่ายเดิม รวมไปถึงความก้าวหน้าที่สำคัญหลายประการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายก็ยิ่งตอกย้ำความต้องการนี้เพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นด้านความเร็วในการสวิตชิ่งอีเธอร์เน็ตที่พัฒนาให้รองรับความต้องการด้านแบนด์วิธ ไปจนถึงฟีเจอร์ในการจัดการและด้านความปลอดภัยบนสวิตช์เหล่านี้ที่ก้าวล้ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนั้น องค์กรทั้งหลายต่างก็หันมาทองหาแนวทางใหม่ในการสร้างเครือข่ายของตัวเองที่เหมาะกับความต้องการและเป้าหมายที่จำเพาะสำหรับเครือข่าย ตัวสวิตช์ ICX 7850 เองก็มีทั้งความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่น มีความสามารถสูงมาก นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มสวิตช์อีเธอร์เน็ตของครอบครัว Ruckus ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน และสนับสนุนการใช้งานรูปแบบใหม่ของเครือข่ายองค์กรในทศวรรษหน้าได้

เกี่ยวกับนักวิเคราะห์:
Brandon Butler นักวิเคราะห์วิจัยอาวุโสด้านเครือข่ายระดับองค์กร
Brandon Butler เป็นนักวิจับอาวุโสของกลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่ IDC ซึ่งดูแลเกี่ยวกับเครือข่ายระดับองค์กร โดยเขามีบทบาทในการวิเคราะห์กระแสนิยมด้านเทคโนโลยีและการตลาด รวมทั้งทำนายและวิเคราะห์คู่แข่งด้านอีเธอร์ดน็ตสวิตชิ่ง เราท์ติ้ง เครือข่ายแลนไร้สาย และตลาดใหม่ที่เกี่ยวข้องอย่าง SDN และ SD-WAN


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ Ruckus ได้ที่ บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด TH-Ruckus@ingrammicro.com

หรือติดต่อที่
K. PONGWUT ASSANEEWUTTIKORN
BUSINESS DEVELOPMENT MANAGER , SP AND STRATEGIC ACCOUNTS
Mobile: +668-66097719
Email:Pongwut.assaneewuttikorn@Commscope.com