คณะกรรมการสื่อสารหรือ FCC ของสหรัฐฯ ประกาศเจตน์จำนงที่จะขยายช่วงคลื่นความถี่เพื่อขยายแบนด์วิธสำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อในตลาด เช่น IoT, และการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ โดยเฉพาะที่สื่อสารผ่านระบบ Wi-Fi เหตุผลหนึ่งมาจากการที่ ISP เริ่มอยากโดดมาลุยตลาดการสื่อสารไร้สายมากขึ้น รวมทั้งการรองรับความต้องการของ Internet of Things (IoT)
สำหรับช่วงคลื่นความถี่แบบไม่ติดไลเซนส์ที่จะอนุญาตให้ผู้ผลิตในตลาดใช้ได้มากขึ้นในอนาคต ได้แก่ 6GHz, 5.9GHz, และ 3.5GHz ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นหลักที่ผู้ใช้งานต้องใส่ใจก็คือการลดการรบกวนสัญญาณที่จะเกิดขึ้น เรามาดูรายละเอียดของแต่ละย่านความถี่ใหม่ดังต่อไปนี้
• 6GHz
ย่านความถี่แรกนี้ FCC ต้องการเพิ่มช่วงความยาวคลื่นขนาด 1200 เมกะเฮิร์ซต์สำหรับอุปกรณ์ทั้งเซ็นเซอร์ IoT และ Wi-Fi ที่ปัจจุบันมารุมแย่งย่าน 2.4 และ 5.8GHz กันตอนนี้ สำหรับย่าน 6GHz มีการประกาศใช้เป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยภาครัฐฯ ให้เหตุผลที่ต้องการวางระบบการจัดสรรคลื่นอัตโนมัติเพื่อแบ่งปันช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 5925 – 7125 MHz ซึ่งปัจจุบันก็มีการใช้งานคลื่นดังกล่าวอยู่แล้วในวงกว้าง ที่ FCC จำเป็นต้องรับฟังความเห็นเพื่อแก้ปัญหาก่อนปล่อยให้มีการนำย่านความถี่ดังกล่าวมากใช้ เช่น จำเป็นต้องวางระบบการจัดสรรความถี่สำหรับอุปกรณ์ภายในอาคารอย่างเซ็นเซอร์และแอคเซสพอยต์หรือไม่ หรือควรจำกัดการใช้แค่ภายในอาคาร เฉพาะอุปกรณ์ที่กำลังการส่งต่ำหรือไม่ เป็นต้น
• 5.9 GHz
เป็นช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 5850 – 5925 MHz ซึ่งปัจจุบันมีใช้งานสำหรับด้านความปลอดภัยของยานยนต์ โดยรถยนต์ใช้ช่วงความถี่นี้ในการสื่อสารระหว่างกันที่ความเร็วสูง ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ V2X หรือ Vehicle-to-everythingช่วงคลื่นแค่ 75 เมกะเฮิร์ตซ์นี้เรียกกันว่า Dedicated Short Range Communications (DSRC)ซึ่งทาง FCC มองว่าไม่ได้มีการนำมาใช้งานอย่างหนาแน่นเพียงพอ ควรนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นเพิ่มเติมให้คุ้มค่ากว่านี้ในอนาคต แน่นอนว่าทางสมาพันธ์ผู้ผลิตยานยนต์ต้องออกมาโต้แย้งเนื่องจากหลายเจ้ากำลังลงทุนพัฒนาชิปเซ็ตด้าน V2X สำหรับผลิตรถยนต์รุ่นใหม่
• 3.5 GHz
เป็นช่วง 3550 – 3700 MHz รู้จักกันในชื่อ Citizen Broadband Radio Service (CBRS)ปัจจุบันถูกใช้สำหรับสื่อสารเรดาร์ของกองทัพเรือ ซึ่งช่วงคลื่นนี้กำลังจะถูกนำมาใช้สำหรับเครือข่าย 5G ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมไปถึง ISP และเครือข่าย LTE/5G ส่วนบุคคล แต่ FCC ก็มองการเปิดให้ใช้แบบไม่ต้องประมูลไลเซนส์ด้วย โดยเฉพาะสำหรับองค์กรหรือโรงงานที่ต้องการนำไปใช้กับระบบ IoT ของตนเอง
ที่มา : Networkworld