การเป็นชาวเน็ตเวิร์กต้องทรหดอดทนมากรู้ไหม เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพไม่ว่าบนแอพพลิเคชั่นหรือเซอร์วิสใดก็ตาม จำเลยอันดับแรกๆ ก็มักเป็นคนดูแลเครือข่ายที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ในการตอบคำถาม ในการพิสูจน์ว่าต้นตอปัญหาดังกล่าวไม่ได้มากจากเน็ตเวิร์กที่ตัวเองดูแลอยู่
การเลือกสายอาชีพในด้านไอทีไม่ใช่เรื่องง่าย มีมือใหม่เข้าวงการหลายรายคิดไม่ตกเวลาเลือกสานงานเริ่มต้นที่มีอยู่หลากหลายมาก แต่ถ้ามองเฉพาะบทบาทการเป็นแอดมิน โดยเฉพาะในสายเน็ตเวิร์กระดับองค์กรแล้ว ก็มีทักษะหลายตัวที่สำคัญที่นายจ้างต้องการ
และหลายครั้งที่ผู้สมัครเลือกงานสายหนึ่งโดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองต้องเจอในแต่ละวันจะมีอะไรบ้าง ดังนั้นเราจึงเอางานการเป็นแอดมินเครือข่ายที่เค้าจ้างกันทั่วไปมาตีแผ่ให้รู้กัน ทั้งหน้าที่งาน ประโยชน์ที่จะได้ ไปจนถึงข้อเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้
ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับ “การเชื่อมต่อ”
หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของแอดมินเน็ตเวิร์กก็คือ ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการเชื่อมต่อที่ดีไปยังแอพและบริการต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งไม่ได้มีแค่การเชื่อมต่อออกไปยังอินเทอร์เน็ต, เครือข่าย WAN, ดาต้าเซ็นเตอร์, หรือคลาวด์เท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาสถานะการทำงานของพอร์ตต่างๆ, สายเคเบิล, และแอคเซสพอยต์ด้วย
เรามักเจอว่าแอดมินเน็ตเวิร์กระดับเริ่มต้นมักวุ่นกับการแก้ปัญหาการเชื่อมต่อให้ผู้ใช้ปลายทาง ตั้งแต่ซ่อมหัวต่อหรือรูเสียบสายแลนทั้งในออฟฟิศหรือตู้ชุมสาย ไปจนถึงการตรวจสถานะการเชื่อมต่อไวไฟชนิดตรวจแล้วตรวจอีก จนต้องใส่รองเท้าดีๆ ที่จะเดินไปเดินมาทั้งวันได้โดยไม่เหนื่อยมาก
ความปลอดภัยบนเครือข่าย
เครื่องมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นมักติดตั้งบนเครือข่ายองค์กรโดยตรง จึงกลายเป็นความรับผิดชอบของแอดมินเครือข่ายด้วยโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นไฟร์วอลล์, IPS/IDS, ระบบตรวจจับและตอบสนองบนเครือข่าย (NDR)
รวมไปถึงระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล (DLP), และอุปกรณ์ทำวีพีเอ็นโดยเฉพาะ (Concentrator) ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ระบบใหม่ๆ อย่าง Secure Access Service Edge (SASE) ก็ยังถูกส่งต่อมาให้แอดมินเครือข่ายจัดการ และไม่ว่าระบบอื่นจะมีฝ่ายอื่นจัดการโพลิซีและ IR แต่การบำรุงรักษาก็มักตกเป็นงานของแอดมินเครือข่ายอยู่ดี
การเฝ้าตรวจสอบทราฟิกและแจ้งเตือน
แอดมินเครือข่ายใช้ทูลหลายตัวในการมองเห็นสถานะและประสิทธิภาพของเครือข่ายองค์กร ซึ่งมีทูลตั้งแต่แพลตฟอร์มตรวจ SNMP พื้นฐาน ไปจนถึงทูลตรวจจับแพ็กเก็ตเชิงลึก (DPI) ที่ซับซ้อนขึ้น ที่ใช้ทั้งแมชชีนเลิร์นนิ่งและ AI
แอดมินเครือข่ายก็ต้องเป็นคนตั้งค่าการตอบสนองเหตุการณ์ หรือปรับค่าเพดานการแจ้งเตือนสำหรับปัญหาประสิทธิภาพต่างๆ ไปจนถึงการสืบหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด รวมทั้งมีความรู้ในการอัพเกรดระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซอร์วิสต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
งานวางแผนกินไปแล้ว 95%
การที่ต้องคอยเปลี่ยนอุปกรณ์เครือข่ายที่เก่าหรือเสื่อมแล้ว และการขยายเครือข่าย LAN, WAN, คลาวด์, หรือ Edge เมื่อจำเป็นนั้น เนื่องจากล้วนเป็นงานที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ จึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมให้ทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นแอดมินเครือข่ายก็ต้องเตรียมใจกับการทำงานด้านวางแผนเป็นส่วนใหญ่ถึง 95% ทั้งด้านการเตรียมอัพเกรดและติดตั้ง โดยจะเหลือเวลาอีกแค่ 5% เท่านั้นในการลงมือทำงานจริง อย่าลืมต้องวางแผนหาสล็อตเวลาบำรุงรักษาในช่วงหยุดสุดสัปดาห์หรือนอกเวลางานด้วย
ต้องอยู่พร้อมโดนเรียกใช้ (On Call) ตลอดเวลา
ถ้าให้พูดว่างานไหนจะได้ทำในช่วงเวลาที่เอาแน่นอนไม่ได้มากสุด ก็คงหนีไม่พ้นงานแอดมินเครือข่ายที่มักโดนเรียกตัวได้ตลอดเวลา แม้องค์กรขนาดใหญ่มักมีทีมผลัดเวรเปลี่ยนกะให้ แต่แอดมินระดับอาวุโสก็มักทำใจแล้วว่าต้องมีงานฉุกเฉินที่โดนเรียกให้ไปช่วยนอกเวลาอยู่เรื่อยๆ
ที่มา : NWC