เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิวเอร่า บิสซิเนส มีเดีย ร่วมกับ เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี ประกาศความพร้อมเปิดเวทีแสดงสินค้าและเทคโนโลยี ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2561 ณ ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจะเป็นเวทีนานาชาติด้านระบบรักษาความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรทั้งเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย ภัยพิบัติ สมาร์ทโฮม และความปลอดภัยระบบสารสนเทศ งานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ จะจัดขึ้นพร้อมงานไทยแลนด์ ไลท์ติ้ง แฟร์ 2018 และไทยแลนด์ บิลดิ้ง แฟร์ 2018 ภายใต้แนวคิดร่วม Smart City Safe City คาดมีผู้ร่วมชมงานกว่า 9,500 คน และผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและเทคโนโลยีกว่า 150 ราย พร้อมเผยอัตราการเติบโตของตลาดรักษาความปลอดภัยในปี 2020 พุ่งแตะ 10,000 ล้านบาท
นางเรจิน่า ไส รองผู้จัดการทั่วไป เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิวเอร่า บิสซิเนส มีเดีย กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดรักษาความปลอดภัยในปีนี้ คาดว่ามีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15% ต่อปี โดยคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท จากแนวโน้มและอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นหนึ่งปัจจัยในการส่งเสริมและผลักดันตลาดรักษาความปลอดภัยของประเทศไทยให้มีการขยายตัว เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ตฯ จึงเตรียมจัดงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 เป็นปีที่ 3 ซึ่งจะเป็นเวทีนานาชาติด้านระบบรักษาความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรทั้งเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย ภัยพิบัติ สมาร์ทโฮม และความปลอดภัยระบบสารสนเทศ ภายใต้แนวคิดร่วม Smart City Safe City คาดมีผู้ร่วมชมงานกว่า 9,500 คน และผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและเทคโนโลยีกว่า 150 ราย
สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาจัดแสดงในงานฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ชั้นนำในด้านระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งโซลูชั่นต่างๆ เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ท ซิตี้ อาทิ กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ กล้องวงจรปิดเฝ้าระวังความปลอดภัยที่เสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-enhanced surveillance) รวมทั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถระบุการระบุตัวตนไบโอเมตริกซ์ โดยแบรนด์ผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยีที่ตอบรับร่วมออกบูธแสดงสินค้า อาทิ DAHUA, DIGITAL FOCUS, GREAT LITE, HIKVISION, HIP GLOBAL, INDIGO, KONICA MINOLTA, MASSLOAD และ ZKTECO
นอกจากนี้ยังจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศหรือ Info Security เป็นครั้งแรก โดยมุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อรับมือกับอาชญากรไซเบอร์และภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศนี้ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกันในงานซีเคียวเทค ไต้หวัน ในปีนี้ สำหรับภายในงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 จะมีงานสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจอาทิ ไอโอที ซีเคียวริตี้ (IoT Security) โมบาย ซีเคียวริตี้ (mobile security) คลาวด์ ซีเคียวริตี้ (cloud security) เน็ตเวิร์กและเอนด์พอยท์ ซีเคียวริตี้ (network & endpoint security) และการบริหารตรวจจับความเสี่ยง (risk remediation) เป็นต้น
“ไฮไลท์สำคัญอีกส่วนหนึ่งของงาน ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ ได้แก่ การจัดงาน SMAhome ไทยแลนด์ ซึ่งจะเป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ สมาร์ท โฮเต็ล สมาร์ท ออฟฟิศ และอาคารระดับกลางถึงระดับไฮเอนด์ที่ต้องการเทคโนโลยีอัจฉริยะในการบริหารจัดการ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายที่ช่วยสนับสนุนแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ระบบการมอนิเตอร์สภาพแวดล้อมภายในเมือง ระบบการบริหารจัดการพลังงานสำหรับธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว ระบบควบคุมการเข้าออกภายในอาคารที่พักอาศัยและอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมทั้งยังได้จัดโซนแสดงระบบการป้องกันอัคคีภัย ภัยพิบัติ หรือ Fire & Safety Thailand จะรวบรวมระบบการแจ้งเตือนการเกิดอัคคีภัยที่รวดเร็ว ทั้งการตรวจจับภาพ เสียง และควัน ระบบดับเพลิงแบบหมอกน้ำ ระบบแจ้งเตือนดินโคลนถล่ม และระบบการกู้ภัยช่วยชีวิตและกู้ภัยน้ำท่วม โดยแบรนด์ชั้นนำที่เข้าร่วมออกบูธได้แก่ NAFFCO, TEEYA MASTER, RAPID DROP และ AIKAH” นางเรจิน่า กล่าว
อีกทั้ง ยังมีงานสัมมนาด้านการป้องกันอัคคีภัย ภัยพิบัติ ในหัวข้อ “The Challenge of Fire & Safety in High-Rise Buildings” ซึ่งผู้เข้ารับฟังจะได้ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โซลูชั่นการป้องกันอัคคีภัยที่ชาญฉลาดกับอาคารสูงรวมทั้งการตอบรับการแจ้งเหตุที่รวดเร็วทันทีเพื่อลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด โดยมีหัวข้อสัมมนาย่อยที่น่าสนใจได้แก่ วิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานครในการป้องกันอัคคีภัยและรักษาความปลอดภัย (Thai government BMA’s Fire Safety & Security Vision), จุดวิกฤตที่ต้องเตรียมรับมือเพื่อการป้องกันอัคคีภัยและระงับเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูง (The Critical Points for Fire Protection & Fire Fighting in High-Rise Building) รวมทั้ง นวัตกรรมเพื่อการเข้าช่วยเหลือระงับเหตุเพลิงไหม้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับการแจ้งเหตุฯ (Innovation to Strengthening Emergencies Response & Provisions)
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายกสมาคมระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย (ICA) กล่าวว่า สมาคม ICA หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ซึ่ง ICA มีบทบาททางด้านการบูรณาการระบบกล้องวงจรปิดให้เป็นระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะเพื่อรองรับนโยบายเมืองอัจฉริยะของประเทศ รวบรวมสมาชิกและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา รวมทั้งยังส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพและวีดิทัศน์ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และนำไปสู่การผลักดันมาตรฐานที่นำไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและพัฒนาการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัย อาทิเช่น ในงานของตำรวจนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อมาจดจำลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์และวัตถุต่างๆ ในการป้องกันความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ อีกทั้งยังนำมาใช้ในการจัดการด้านจราจร โดย AI สามารถนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาวิเคราะห์เพื่อคำนวณประมาณรถและความเร็วระบนถนนได้แบบ real-time ซึ่งข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการวางผังเมือง หรือการปรับเส้นทางการจราจร ในการแก้ปัญหารถติดอีกด้วย อย่างไรก็ตามกล้องวงจรปิดสมัยใหม่ประกอบกับ AI ที่สามารถประมวลผลได้รวดเร็วแม่นยำจะก่อให้เกิดระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สอดคล้องกับนโยบายยุค Thailand 4.0
ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า การจัดงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ของเมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต ภายใต้แนวคิด Smart City Safe City จึงมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของ DEPA และ ของประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีด้านระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมืองให้มีความเป็นอัจฉริยะ โดยเฉพาะในสาขาระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility) และ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ผมหวังว่าการจัดแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกจะเป็นการกระตุ้นให้คนในประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมืองอัจฉริยะ และได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากแหล่งความรู้ทั่วโลก รวมทั้งการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ