หน้าแรก Vendors ความท้าทายของริโก้ ท่ามกลางวิกฤต Covid-19

ความท้าทายของริโก้ ท่ามกลางวิกฤต Covid-19

แบ่งปัน

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา Covid-19 ที่ลุกลามเป็นวงกว้างเกือบทุกประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคล รวมไปถึงภาคธุรกิจอย่างเลี่ยงได้ยาก นับเป็นความท้าทายบทใหม่ในการวางระบบป้องกัน และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

การบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารยุคใหม่ “พรชัย วรอังกูร’’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและบิสซิเนสโซลูชัน บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เช่นกัน

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

“แน่นอนว่าเหรียญมักจะมีสองด้านเสมอ” พรชัยกล่าว หากมองในภาพรวม วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก และเป็นวงกว้างในเกือบจะทุกภาคธุรกิจ แต่หากมองในอุตสาหกรรมไอที ต้องบอกว่ามีผลกระทบในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาเอง ก็ต้องบอกว่าธุรกิจไอทีได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในตัวเองอยู่แล้ว ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและแนวทางการทำธุรกิจพอสมควร แต่เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น ความต้องการขั้นพื้นฐานในเรื่องของอุปกรณ์ไอทีกลับสูงขึ้นกะทันหัน เพื่อรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Work from Home

“คนส่วนใหญ่มักมีอุปกรณ์ไอทีที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อต้องทำกันอย่างจริงจัง อุปกรณ์ที่มีอยู่ก็อาจไม่ตอบโจทย์ และต้องหาเครื่องมือเสริมกันอย่างเร่งด่วน” สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายๆ บริษัท ตัดสินใจเพิ่มงบเร่งด่วน เพื่อจัดซื้อ และหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจเดินเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด และที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ก็คือ การเช่าใช้อุปกรณ์ไอที

“ความจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่ยืดเยื้อ การเช่าอุปกรณ์ชั่วคราวคุ้มค่ากว่าการลงทุนก้อนใหญ่ในครั้งเดียว ริโก้เองก็ขยายให้บริการเช่าอุปกรณ์ไอทีที่จำเป็นกับลูกค้าเพิ่มเติมให้กับหลายที่” พรชัย กล่าว และเสริมว่า ในวิกฤตครั้งนี้ยังสร้างความต้องการใหม่ๆ อย่างระบบการประชุมทางไกล รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกค้าบริษัทประกัน หรือสถาบันการเงิน ที่ริโก้ได้เข้าไปช่วยจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนให้ทันตามความต้องการในทันที

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจไอทีไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย จริงๆ ก็ต้องมีบ้าง เช่น การเลื่อนงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆ หรือการยกเลิกงานแสดงสินค้าด้านไอที การที่หลายๆ บริษัทฯ ชะลอการลงทุนเพื่อดูสถานการณ์ก่อน ก็เป็นเหตุผลให้กำลังซื้อหายไปจากตลาดพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาซัพพลายเชนเกิดชะงักงันจากโรงงานผู้ผลิต

บทเรียนจาก Crisis

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ก่อนหน้านี้โลกเคยเผชิญกับโรค SARS ในปี 2003 และ MERS ในปี 2012 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านสาธารณสุขและความเชื่อมั่น เพียงแต่เป็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ จึงไม่ส่งผลตรงกับภาคเศรษฐกิจมากนัก ต่างกับวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างในเอเชีย และซับไพรม์ก็กระทบกับสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

พรชัย ยอมรับว่า ผลกระทบที่ขึ้นในอดีตมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับวิกฤต Covid-19 ที่ส่งผลไปทั่วโลก ทั้งการระบาดต่อเนื่อง รวมไปถึงวิธีควบคุมการระบาด อย่างการปิดประเทศ การปิดเมือง ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การค้า ธุรกิจบริการในทุกภาคส่วน

ประเทศในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสถานที่แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 บริษัท ริโก้ กรุ๊ป จำกัด ได้ประกาศให้พนักงานในเขตพื้นที่กรุงโตเกียวทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home ทันที

ในทวีปยุโรปที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ริโก้ในภูมิภาคนี้ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น ริโก้ ในอิตาลีและฝรั่งเศสได้จัด Virtual Room Services ให้ลูกค้าในกลุ่มการศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สามารถใช้ในการเรียนการสอนผ่านทาง video conference ได้

ปรับแผน รับมือ

ผลกระทบโดยรวมทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้หลายธุรกิจ หยุดชะงัก โดยเฉพาะในภาคการบริการ และคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้หลังการขายไม่ต่ำกว่า 20% อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการทางด้านการพิมพ์ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก ริโก้ในฐานะผู้ให้บริการด้านการพิมพ์ก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จากการที่หลายๆ บริษัทได้มีนโยบาย Work From Home นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อ TDV (Total Document Volume) หรือปริมาณการพิมพ์เอกสารของบริษัทลูกค้า

เมื่อพนักงานต่างทำงานกันจากที่บ้าน การพิมพ์เอกสารจากเครื่องที่บริษัทก็น้อยลงไปด้วย หรือการที่บริษัทต่างก็มีนโยบายในการลดความเสี่ยงจากผู้มาติดต่อภายนอก ก็ได้ส่งผลให้การส่งมอบและงานติดตั้งเครื่องต้องล่าช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและบิสซิเนสโซลูชัน บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ริโก้ได้ปรับองค์กรและโครงสร้างธุรกิจมาในระดับหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น โดยการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการแบบ Total Solutions ทั้งในเรื่องอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation), อุปกรณ์ไอที (IT) รวมถึงระบบ Smart Systems

ด้วยผลิตภัณฑ์ และบริการของริโก้ที่มีอยู่หลากหลายนั้นทำให้ริโก้มี Flexibility ค่อนข้างสูงในการดำเนินธุรกิจ และสร้างโอกาสทางธุรกิจในช่วงวิกฤตนี้ได้ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการทำงานแบบดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีคลาวด์ อย่างซอฟต์แวร์ของริโก้เองนั้นก็เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมไปถึงการทำงานในอนาคต

ซอฟต์แวร์ของเราอย่าง Open Bee Cloud นั้นสามารถเรียกเอกสารจากองค์กรได้ แม้จะทำงานจากที่บ้าน ระบบ Conference System Platform ตอบโจทย์การประชุมทางไกล หรือ Car Park Management System ที่ช่วยออกแบบระบบบริหารลานจอดรถในเรื่องการชำระเงิน โดยมีตัวเลือกให้ชำระค่าบริการผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสธนบัตรได้ และยังเป็นการสนับสนุนสังคมไร้เงินสด (Cashless Soci-ety) อีกด้วย

นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมในการนำเสนอสู่ตลาดแล้ว ริโก้ยังคงให้ความสำคัญในตัวบุคลากรของบริษัทฯ ที่จะต้องส่งเสริม และพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพนอกเหนือจากระบบประเมิน และติดตามผลเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ด้วยกัน