คุณอาจนึกไม่ถึงว่า เว็บไซต์และเว็บแอพทั่วโลกมากถึง 80% ทำงานบนเว็บเซิร์ฟเวอร์ฟรีแบบโอเพ่นซอร์ส ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการวางเซิร์ฟเวอร์สำหรับรันเว็บไซต์เป็นของตนเองจึงไม่ควรมองข้ามทางเลือกในการหาเว็บเซิร์ฟเวอร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ดีและเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ ซึ่งมีเว็บเซิร์ฟเวอร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 ตัวที่น่าสนใจดังนี้
1. Apache HTTP
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอาปาเช่เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งผลสำรวจล่าสุดพบว่าอยู่เบื้องหลังการทำงานของเว็บไซต์ทั่วโลกมากถึง 60% และนอกจากบนลีนุกซ์แล้ว ยังติดตั้งบนวินโดวส์ได้ง่ายอีกด้วย ใช้กลไกแบบโมดูลเพื่อปรับแต่งหรือติดตั้งฟีเจอร์ต่างๆ ได้ตามต้องการ มีชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่มากคอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนว่ามีการออกแพ็ตช์และตัวอัพเดทอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
2. NGINX
ถูกพัฒนานำมาใช้จริงตั้งแต่ปี 2004 เพื่อนำมาแก้ปัญหา C10K ที่เป็นอุปสรรคต่อการประมวลผลการเชื่อมต่อพร้อมกันหลายการเชื่อมต่อ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Asynchronous ทำให้เหมาะกับการรองรับเซสชั่นที่ Concurrent จำนวนมากได้โดยใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเบาและคล่องตัว รองรับการขยายระบบในอนาคตได้ง่ายด้วยนอกจากเว็บเซิร์ฟเวอร์แล้ว ยังได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ด้วยเหมือนกัน
3. Apache Tomcat
พัฒนาขึ้นโดย Sun Microsystem เป็นที่รู้จักในแง่ของการเป็น Java Servlet แต่ก็นำมาใช้เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้ด้วย เบาและคล่องตัวสูง ยืดหยุ่น ปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของเว็บแอพได้ง่าย แถมยังมีชื่อเสียงด้านความเสถียร และการรักษาความปลอดภัยสำหรับเว็บแอพที่จำเพาะด้วย
4. Node.js
ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถือเป็นระบบประมวลผลจาวาสคริปต์บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์สำหรับเว็บแอพและเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยจุดเด่นที่สามารถรันข้ามแพลตฟอร์มได้ จึงเหมาะกับซ็อกเก็ตและโปรโตคอลกลุ่ม Low-Level ทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังเว็บที่ต้องการความเร็วการแสดงผลแบบเรียลไทม์ รองรับฐานข้อมูลหลายแบบมากเช่น CouchDB, MongoDB, MySQL, NoSQL เป็นต้น
5. Lighttpd
เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์จำนวนมาก โดยเฉพาะเว็บเกี่ยวกับการพนันรายใหญ่ๆ จากชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเน้นที่ความเบาไม่หนักเครื่อง มีความยืดหยุ่นสูง และปรับแต่งได้มากเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด Lighttpdใช้แรมน้อยมากเมื่อเทียบกับเว็บเซิร์ฟเวอร์ตัวอื่น รวมทั้งกินโหลดซีพียูน้อย จึงทำงานได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับเว็บไซต์ที่ต้องการความไวในการประมวลผล อย่างผลการแข่งกีฬาในเว็บอย่างว่า รองรับฟีเจอร์อย่าง URL Rewriting, Output-Compression, และ FastCGI ซึ่งทำให้เป็นเซิร์ฟเวอร์ในอุดมคติสำหรับเฟรมเวิร์กอย่าง Ruby และ Rails
ที่มา : Technotification