หน้าแรก Applications 10 ภาษาโปรแกรมมิ่งที่แม้เก่า แต่ก็ยังเก๋าอยู่เสมอๆ

10 ภาษาโปรแกรมมิ่งที่แม้เก่า แต่ก็ยังเก๋าอยู่เสมอๆ

แบ่งปัน

เทคโนโลยีประมวลผลนั้นก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา อย่างสมาร์ทโฟนเดี๋ยวนี้ก็มีทั้งแรมและซีพียูที่ดีกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นแล้ว รวมทั้งมีอุปกรณ์พกพาและแอพใหม่ๆ มากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตประจำวันของพวกเรา จนต้องยอมรับว่าหลายเทคโนโลยีเก่านั้นตกรุ่นเสื่อมความนิยมพอสมควร แต่ยกเว้นเรื่องของ “ภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรม”

ด้านภาษาโปรแกรมมิ่งนั้น แม้จะมีภาษาใหม่ๆ ถูกคิดค้นขึ้นมาให้ใช้พัฒนาโปรแกรมได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนก็ตาม แต่ภาษารุ่นดึกดำบรรพ์หลายตัวที่ยังมีบทบาทและถูกวางรากฐานอย่างแข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงถูกนำไปใช้ในการเขียนโปรแกรมในหลายวงการด้วยกัน ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าของที่ “ยิ่งแก่ยิ่งเริ่ด” นั้นมีจริง จึงได้รวบรวมภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมที่เกิดตั้งแต่ยุค 90s แต่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไว้ 10 ภาษาให้ได้ยลโฉมกัน ดังนี้

1. FORTRAN

ถือเป็นภาษาระดับสูงตัวแรกที่ถูกคิดค้นขึ้นในโลก ตั้งแต่ปี 2497 โดย IBM ซึ่งมีชื่อย่อมาจาก FORmulaTRANslation ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อใช้แปลงสูตรทางคณิตศาสตร์เป็นโค้ดโปรแกรมมิ่ง และในปัจจุบันก็ยังมีการใช้ภาษา Fortran ในการเขียนโค้ดโปรแกรมที่ต้องประมวลผลตัวเลขที่ซับซ้อน รวมทั้งใช้ในการประมวลผลทางคณิตศาสตร์ต่างๆ

2. Lisp หรือ List Processing

เก่าย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัย 2502 ที่คิดค้นขึ้นสำหรับประมวลผลข้อมูลที่อยู่ในรูปข้อความสั้นหรือสตริง ซึ่งปัจจุบันกลับมาได้รับความนิยมในการเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับ AI เนื่องจากความสามารถในการประมวลผลสัญลักษณ์ต่างๆ แทนการใช้ตัวเลขเหมือนภาษาอื่น

3. COBOL

ย่อมาจาก Common Business Oriented Languageมีอายุระดับคุณย่าทวดตั้งแต่ปี 2502 เพื่อให้พัฒนาแอพให้ดูเป็นมิตรกับธุรกิจต่างๆ จึงยังคงความนิยมในหมู่โปรแกรมสำหรับธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ (ที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้โปรแกรมเก่าๆ) นั่นเอง

4. ภาษา C

ถูกพัฒนาขึ้นโดย Dennis Ritchieจาก Bells Labs ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสร้างระบบปฏิบัติการยูนิกส์ในสมัยนั้น เป็นภาษาระดับสูงที่ถูกนำมาใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะแอพแบบพกพาหรือ Portable และพวกเฟิร์มแวร์ ยังได้รับความนิยมอยู่เพราะเป็นภาษาดิบๆ ที่ทำให้ใช้ทรัพยากรประมวลผลได้งกและคุ้มค่า หรือดูตัวเบาและทำงานได้เร็วนั่นเอง

5. MATLAB

ย่อมาจาก MATrixLABoratory คิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ Cleve Molerเพื่อใช้สอนนักเรียน แต่กลับได้รับความนิยมในการเขียนโปรแกรมคำนวณที่ต้องการแสดงวิธีคิดอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้พัฒนาแอพ และถูกพัฒนาให้อยู่ในรูป GUI ด้วย

6. Objective C

ถูกคิดค้นตั้งแต่ปี 2523 โดย Tom Love และ Brad Coxด้วย เป้าหมายในการสนับสนุนให้คนเขียนโปรแกรมนั้นเขียนโค้ดที่ดูสะอาด มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบมากกว่าภาษาแม่อย่างภาษาซีลักษณะเป็นภาษาที่ใช้งานได้ครอบจักรวาลเช่นเดียวกับตระกูลซีทั้งหลายจนในที่สุด Objective-C ได้กลายเป็นภาษาหลักที่แอปเปิ้ลใช้เขียนโปรแกรมของตัวเอง โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการ (iOS และ OS X)

7. C++

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2522 ที่หลายคนยังไม่กลับชาติมาเกิด คิดค้นขึ้นโดย Bjarne Stroustrupและมาจากบริษัท Bells Labs เช่นเดียวกับภาษาซี โดยซีพลัสพลัสถูกพัฒนาตามหลังมาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ทรงพลังขึ้น จึงเป็นหนึ่งในภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงปัจจุบัน และใช้พัฒนาแอพแบบครอบจักรวาลตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ, กราฟิก, เกม, เว็บโปรแกรมมิ่ง, หรือแม้แต่ใช้สร้างภาษาอื่น

8. Erlang

เป็นภาษาอเนกประสงค์ที่มักเรียกกันอีกชื่อว่า Erlang/OTP หรือสั้นๆ แค่ OTP มักนำมาใช้ในการเขียนโปรแกรมแบบรันไทม์เนื่องจากมีคอมโพเนนท์แบบพร้อมใช้งานให้เลือกใช้มากมายในปัจจุบัน Erlang มีคุณสมบัติในการสำรองการทำงาน และการทำงานควบคู่พร้อมกันหรือคอนเคอเรนต์ จึงได้รับการนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะบริการแชตส่งข้อความอย่างเช่นในเฟซบุ๊กและ Whatsappอีกทั้ง Ericsson ยังนำมาใช้พัฒนาโหนดสำหรับซัพพอร์ตอุปกรณ์ของตัวเองด้วย

9. Perl

เป็นภาษาที่ถูกจัดประเภทว่าเป็นทั้งระดับสูงและรองรับการทำงานแบบไดนามิก โดยปัจจุบันมาถึงเวอร์ชั่นPerl 5 และ 6 แล้ว ยังคงความนิยมอยู่ได้ด้วยเอกลักษณ์ตรงความสามารถในการประมวลผลไฟล์ข้อความต่างๆจึงยังถูกนำมาใช้เขียนสคริปต์ CGI เป็นหลัก รวมถึงการใช้ดึงข้อมูลและประมวลผลไฟล์ข้อความ

10. Python

เป็นภาษาระดับสูงที่ใช้เขียนโปรแกรมได้อเนกประสงค์ คิดค้นโดย Guido van Rossumเพื่อให้ได้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายสมกับเป็นภาษาระดับสูงอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้โค้ดดูสะอาด คลีน มองสบายตาเข้าใจง่ายไม่ว่าจะใช้เขียนแอพใหญ่แอพเล็กแค่ไหน ซึ่งปัจจุบัน Python ถูกจัดให้เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดแม้จะมีอายุยืนยาวมาหลายสิบปี รองถัดจากจาวาและ C++ เท่านั้น แอพที่มีชื่อเสียงที่เขียนด้วย Python อย่างเช่น Instagram, Google, Facebook, และ Wikipedia

ที่มา : Technotification