หน้าแรก Networking & Wireless ทิปเด็ด 10 ประการ สร้างความก้าวหน้าในอาชีพสาย Networking

ทิปเด็ด 10 ประการ สร้างความก้าวหน้าในอาชีพสาย Networking

แบ่งปัน

ผู้ที่ทำงานด้านเครือข่ายที่ต้องการไต่เต้าด้านอาชีพนั้น จะพบว่ามีหลายช่องทางมากมายให้เลือกไต่ไม่ว่าเต้าเล็กเต้าใหญ่อย่างการสอบใบประกาศรับรองมากมายเป็นร้อยเป็นพัน เยอะมากจนกระทั่งเสี่ยงต่อการหลงทางหรือท้อกลางทางได้

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการไต่ให้ถูกเต้าคือ ต้องรู้ก่อนว่าอยากได้เต้าไหน เช่น ด้านความปลอดภัย, LAN, WAN, ฯลฯ แล้วค่อยพิจารณาเส้นทางและขั้นตอนในการไต้เต้าไปอย่างเป้าหมายที่ต้องการอย่างเหมาะสม ซึ่งบางคนอาจจะแค่เข้าคอร์สเรียนเทคโนโลยีใหม่ไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่บางคนอาจจำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน ใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้

จากผลสำรวจล่าสุดของ IT Career Finder พบว่าตำแหน่ง “แอดมินเครือข่าย” ไม่เพียงเป็นที่ต้องการมากที่สุดในปีนี้เท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายใน 10 ปีมากถึง 28% อีกด้วย อันเป็นผลจากเทรนด์ด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มาแรงอย่างคลาวด์คอมพิวติง, IoT, หรือแม้แต่ด้านการใช้เครื่องมือความปลอดภัยที่ทำงานระดับเน็ตเวิร์กทั้งหลาย เรียกได้ว่ามีความท้าทายใหม่ๆ มากมายรอชาวเน็ตเวิร์กให้ฉวยโอกาสก้าวหน้าในอาชีพเต็มไปหมด

ทาง NetworkComputing.com จึงได้รวบรวม 10 กลเม็ดเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณก้าวไปไกลกว่าเพื่อนร่วมอาชีพในวงการเครือข่ายไว้ดังต่อไปนี้

1. อยู่บ้านอย่านิ่งดูดาย หมั่นฝึกฝนทักษะตัวเองอยู่เสมอ

ทุกอาชีพต่างต้องหมั่นศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะสายเน็ตเวิร์กที่การใช้เวลาว่างขยันฝึกทักษะจะช่วยสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งในตลาดแรงงานได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเรียนคอร์สอบรมช่วงกลางคืนหรือสุดสัปดาห์, การอ่านหนังสือด้วยตนเอง, หรือเข้าคอร์สออนไลน์ก็ตาม แม้แต่การเข้าสัมมนาผ่านเว็บแค่หนึ่งชั่วโมงในช่วงพักกลางวัน หรือสร้างแล็ปย่อมๆ ในบ้านไว้ฝึกปรือวิทยายุทธ์ เป็นต้น

2. หาอะไรที่ชาวบ้านเกลียด แล้วฝึกให้เชี่ยวชาญ

คือทำให้ตัวเองเป็นสินค้าที่หายากมีแต่คนมารุมแย่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับตลาดหรือองค์กรที่คุณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระบบ WiFi เก่า, การใช้ทูลตรวจจับแพ็กเก็ตเพื่อหาสาเหตุของปัญหาแอพพลิเคชั่น, หรือการจัดการสัญญาว่าจ้างเกี่ยวกับเครือข่าย ซึ่งการทำในจุดที่คนอื่นไม่มีใครทำ ย่อมทำให้บริษัทขาดคุณไม่ได้

3. จับเทรนด์ใหม่อย่างมีสติ

อย่าไปฝังรากกับเทคโนโลยีที่ไม่มีใครเอามาใช้จริง อย่าหลงเชื่อคำโปรยหรือข่าวไอทีที่ใส่สีตีไข่ให้ตื่นเต้นว่า เทรนด์นู้นกำลังมา เทคโนโลยีนี้มาแรงมาก เพราะมีหลายนวัตกรรมใหม่ที่ชาวไอทีเราๆ ชอบตื่นเต้น แต่ไม่นานก็ตายจากไปเพราะไม่มีองค์กรไหนเอามาใช้ประโยชน์ในการทำงานจริง

4. ใบเซอร์คือพระเจ้า

แม้จะเกลียดการสอบเข้าไส้ขนาดไหน แต่ใบเซอร์ก็เป็นหลักฐานที่แสดงความเชี่ยวชาญของตัวเองได้ง่ายและน่าเชื่อถือที่สุด เป็นของตกแต่งเรซูเม่ที่เหล่าเฮดฮันเตอร์หลงใหลได้ปลื้ม โดยเฉพาะใบเซอร์ของซิสโก้ รวมไปถึงใบเซอร์เฉพาะด้านที่หายากอย่าง CISSP หรือ AWS Cloud ที่ตรงกับความถนัดของคุณ

5. ดูที่ทำงานตัวเองด้วยว่าเขาใช้อะไร

เช่น อุปกรณ์การแพทย์มักใช้เราท์ติ้งทั้ง IPv4 และ IPv6 แบบมัลติคาสต์ ขณะที่โรงงานต่างๆ มักเชื่อมต่อเอนด์พอยต์ผ่าน WiFi เฉพาะยี่ห้อเพื่อสื่อสารข้ามอาคารหรือคลังสินค้า ดังนั้นการฝึกตัวเองให้ตอบโจทย์ในที่ทำงานย่อมทำให้องค์กรโปรโมทตำแหน่งคุณมากกว่า

6. อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล

อย่าทำตัวเป็นเป็ดที่สุดท้ายก็โดนเขาเอาไปย่างกินอย่างไร้ค่า การทำให้ตัวเองเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งไปเลยย่อมทำให้ไม่หลงทาง และหาความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ลองดูตัวเองว่าชื่นชอบสาขาไหน เช่น LAN/WAN ในองค์กร, เครือข่ายสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์, เครือข่ายไร้สาย, ระบบ Collaborate, หรือด้านความปลอดภัย เป็นต้น

7. มีความสุขกับการทำงานนอกเวลาออฟฟิศไหม

ถ้าไม่ก็รีบไปทำอาชีพอื่นไม่ว่าจะระดับเด็กน้อยหรือขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางระบบจำเป็นต้องเลี่ยงเวลา หรือหาเวลาที่รบกวนการใช้งานของผู้ใช้ส่วนใหญ่มากที่สุดอยู่ดี

8. มีส่วนร่วมตามเว็บบอร์ดที่เกี่ยวกับสายงาน

ไม่ว่าคุณจะมีเป็นชาวเน็ตเวิร์กสายไหน ก็มีเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับสายความถนัดที่คุณสนใจอยู่มากมายรอให้เข้าไปเล่น ไม่ว่าจะตั้งคำถามหรือตอบข้อสงสัยในกระทู้ต่างๆ ย่อมสร้างแรงบันดาลใจในการทบทวนและหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง (หรือจะไม่เคยนั่งคลำหาคำตอบในอากู๋เพื่อหาคำตอบแบบไม่ให้ชาวบ้านประนาม) เว็บฟอรั่มที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์เหมาะกับการฝึกภาษาไปพร้อมกันได้แก่ Solarwinds THWACK, Extreme Networks Community, หรือ Aerohive’s HiveNation เป็นต้น

9. หาเครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ทดสอบฟรีๆ

หาเครื่องมือมาลองใช้เพราะผู้จำหน่ายมักยินดีให้ลูกค้านำผลิตภัณฑ์ทดลองไปใช้ คุณก็ควรฉวยโอกาสฟรีๆ นี้ในการสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ และฝึกฝนทักษะใหม่แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายนี้ด้วย

10. พื้นฐานคุณแน่นหรือยัง

ถ้ายังไม่แข็งแรงพอ ยิ่งไปเรียนรู้อะไรหวือหวามากๆ ระวังจะพังครืนลงมาไม่รู้ตัว ลองทบทวนความเข้าใจหลักการเครือข่ายพื้นฐานอย่างการแบ่งเครือข่ายหรือตั้งที่อยู่ไอพี, Spanning Tree, และโปรโตคอลเราท์ติ้งหรือการหาเส้นทางข้ามเครือข่ายให้ดีก่อน แล้วการเรียนรู้ทักษะเครือข่ายใหม่ๆ จะเป็นไปอย่างไหลลื่นและรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา : Networkcomputing