หน้าแรก Home feature 10 ขั้นตอนในการศึกษาภาษาจาวา ให้เข้าใจได้ง่ายดาย

10 ขั้นตอนในการศึกษาภาษาจาวา ให้เข้าใจได้ง่ายดาย

แบ่งปัน

Java เป็นหนึ่งในภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล มีการนำมาใช้ทั้งบนเว็บ, ในองค์กร, และพัฒนาแอพต่างๆ การเรียนรู้ภาษาจาวาจึงเป็นใบเบิกทางสู่สายอาชีพที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลทั้งด้านความต้องการของตลาดแรงงาน และอนาคตที่ยังมีอีกยาวไกลดังนั้นทาง TechNotification.com จึงแนะนำเทคนิค และขั้นตอนการศึกษาภาษาจาวาอย่างง่ายๆ ไว้ดังต่อไปนี้

1. ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานภาษา C และ C++

เนื่องจากภาษาซีถือเป็นคุณแม่ของวงการเขียนโปรแกรม ที่ทุกภาษาโปรแกรมมิ่งระดับสูงนำมาใช้พัฒนาต่อจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของภาษาซีอย่างเช่น ฟังก์ชั่น, โครงสร้าง, ลูป, การสร้างเงื่อนไข, ประเภทของข้อมูล, และคีย์เวิร์ดต่างๆ นั้นจะทำให้ได้ไอเดียของการเขียนโปรแกรมทุกภาษาบนโลกใบนี้ และเนื่องจากภาษาซีเป็นภาษาที่กว้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาลึกมากเกินไป แค่หัดเขียนโค้ดพื้นฐานได้แล้วก็หันมาฝึกภาษา C++ แทน ซึ่งภาษา C++ นี้จะมีเรื่องแนวคิดพื้นฐานการเขียนโปรแกรมที่อิงตามอ๊อพเจ็กต์ หรือ Object-Oriented ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคลาส, อ๊อพเจ็กต์, Polymophism, อินเทอร์เฟซ, Inheritance, และ Abstraction รวมทั้งยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึมที่สำคัญด้วย

2. เลือกโปรแกรมเขียนโค้ด (IDE) ที่เหมาะสม

IDE เป็นชุดเครื่องมือที่ประกอบด้วยโปรแกรมช่วยเขียนโค้ด, ตัวคอมไพล์, ตัวแปลภาษา, ตัวดีบั๊ก, ไลบรารี, และเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อื่นๆ มากมาย ซึ่ง IDE ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันได้แก่ Netbeans และ Eclipse

3. ศึกษาและหัดเขียนโค้ดด้วยแหล่งเรียนรู้ออนไลน์

มีหลายเว็บไซต์ที่เหมาะกับการเรียนรู้การเขียนโปรแกรม และเต็มไปด้วยหลักสูตรที่สร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ นอกจากนี้ยังมีตัวคอมไฟล์ออนไลน์ให้เช็คความถูกต้องของโค้ดได้ทันทีอีกด้วย การสมัครเรียนหลักสูตรออนไลน์ที่สอนผ่านวิดีโอ และซัพพอร์ตตอบข้อสงสัยได้นั้นถือเป็นแนวทางการศึกษาที่รวดเร็วและมีคุณภาพ

4. ฝึกเขียนอัลกอริทึม

ก่อนลงมือเขียนโค้ดโปรแกรมอัลกอริทึมคือขั้นตอนการทำงานหรือแก้ไขปัญหา ซึ่งการวางแผนด้วยการเขียนขั้นตอนและโฟลว์การทำงานของโปรแกรมก่อนลงมือเขียนโค้ดจริงจะช่วยหลีกเลี่ยงความผิดพลาดด้านตรรกะต่างๆ และให้มองเห็นภาพชัดเจนว่าโปรแกรมจะรันในรูปแบบไหน แม้นักเขียนโปรแกรมหลายคนจะรำคาญว่าการนั่งเขียนอัลกอริทึมนั้นเสียเวลา แต่จริงๆ แล้วมักช่วยทำให้ประหยัดเวลา และเขียนโปรแกรมได้มีประสิทธิภาพขึ้นมาก

5. หัดให้เชี่ยวชาญทีละหัวข้อ

ไม่ควรนั่งกังวลว่าต่อไปต้องเรียนอะไรอีกมากมายบ้าง ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ปัจจุบันให้ถ่องแท้ แล้วฝึกเขียนโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง โดยหัดโปรแกรมที่ใช้ทั้งความรู้เดิมที่ศึกษามาแล้ว และหัวข้อใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ การข้ามไปศึกษาหัวข้อชั้นสูงโดยละเลยหลักการพื้นฐานนั้นไม่ใช่แนวทางที่ดี เพราะหลายครั้งที่อาจต้องกลับมานั่งเรียนรู้หัวข้อแรกๆ ใหม่จนเสียเวลาได้

6. ถามข้อสงสัย

ในชุมชนออนไลน์เช่น StackOverflow.com, Reddit.com, news.ycombinator.comซึ่งเต็มไปด้วยแนวทางแก้ไขปัญหา เหมาะกับการถามคำถาม, แบ่งปันปัญหาที่พบ, และช่วยแก้ไขปัญหาของสมาชิกคนอื่น ซึ่งเว็บบอร์ดที่มีความเคลื่อนไหวเยอะนั้นเป็นตัวช่วยพัฒนาความมั่นใจ และสร้างแรงจูงใจได้เป็นอย่างดี

7. มองหาเฟรมเวิร์กที่โดนใจ

หลังจากศึกษาหลักการพื้นฐานของจาวาแล้ว ขั้นตอนต่อไปได้แก่การหาเฟรมเวิร์ก ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือและฟังก์ชั่นสำเร็จรูปที่ออกแบบมาอย่างจำเพาะ ทำให้เขียนแอพลักษณะคล้ายกันได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเขียนโค้ดใหม่ซ้ำๆ ปัจจุบันมีเฟรมเวิร์กหลายประเภทสำหรับทั้งใช้เขียนแอพ, ทำเว็บ, ใช้ในองค์กร, และพัฒนาระบบ ซึ่งคุณต้องเลือกประเภทงานที่ต้องการเชี่ยวชาญไปทางใดทางหนึ่ง สำหรับเฟรมเวิร์กที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันได้แก่ Spring, Apache Struts, และ Spark เป็นต้น

8. ใช้ระบบควบคุมเวอร์ชั่นโค้ด

เป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ตอนแรกสุด ซึ่งระบบควบคุมเวอร์ชั่นเป็นตัวบันทึกการเปลี่ยนแปลงไฟล์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ทำให้สามารถย้อนกลับไปหาไฟล์เวอร์ชั่นก่อนหน้าได้เมื่อดันทำโค้ดปัจจุบันพัง ซึ่งปัจจุบันมีบริการบันทึกเวอร์ชั่นและสำรองข้อมูลที่ได้รับความนิยมอย่างเช่น GIT และ SVN

9. เข้าไปมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์โอเพ่นซอร์สต่างๆ

ซึ่งมีลิสต์อยู่สารพัดรายการใน github.com/trending/java ซึ่งการเข้าไปช่วยเค้าเขียนโค้ดนั้นเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เขียนโปรแกรมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้เข้าถึงตัวอย่างโค้ดของโปรเจกต์ดังกล่าวด้วย ทำให้เข้าใจและวิเคราะห์โปรเจกต์โอเพ่นซอร์สต่างๆ อันนำไปสู่การสร้างแอพโอเพ่นซอร์สของตนเองได้

10. ติดตามบล็อกเกี่ยวกับโปรแกรมมิ่ง

ที่มักเต็มไปด้วยข่าวและอัพเดทล่าสุดเกี่ยวกับภาษาจาวา เช่น geeksforgeeks.org, blog.codinghorror.com, หรือบล็อกของกูเกิ้ลอย่าง developers.googleblog.comเพื่อตามให้ทันเทรนด์, ความต้องการของตลาด, รวมทั้งรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ของภาษาจาวา ที่จะเปิดโลกกว้างในอาชีพตัวเองให้มากขึ้น

ที่มา : Technotification