หน้าแรก Networking & Wireless ความรู้เบื้องต้น : คำว่า Latency แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?

ความรู้เบื้องต้น : คำว่า Latency แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?

แบ่งปัน

คำว่า Latency ตามตำราด้านเน็ตเวิร์กหลายฉบับต่างให้ความหมายว่าเป็นเวลาที่ช้าลงหรือดีเลย์ที่มีหลากหลายรูปแบบ ที่เกิดขึ้นจาก “การประมวลผลข้อมูล” บนเครือข่าย ซึ่ง Latency นั้นคนนิยมเรียกว่าแลค (Lag) หรือเวลาหน่วง เวลาที่ทำงานอืดอาด แล้วตกลงมันต่างจากคำว่า “ดีเลย์” ทั่วไปอย่างไร

ถ้าอิงตามผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มจะระบุไว้ชัดว่า เวลาหน่วงหรือ Latency คือเวลาส่วนต่างระหว่างที่ข้อมูลเข้าไปประมวลผลในอุปกรณ์ จนถึงออกมาจากอุปกรณ์ เช่น สวิตช์ตัวนี้มีเวลาหน่วงประมาณ 5 มิลลิวินาที ขณะที่ดีเลย์จะพูดถึงเวลาทั้งหมดที่ทราฟิกข้อมูลวิ่งจากต้นทางไปสิ้นสุดที่ปลายทาง ที่ไม่มานั่งพิจารณาว่าตรงกลางต้องผ่านการประมวลผลของอุปกรณ์คั่นกลางอะไรบ้าง

แต่หลายตำราก็อ้างว่า Latency และ Delay ใช้แทนกันได้ โดย Low-Latency แทนเครือข่ายที่มีดีเลย์ต่ำ ข้อมูลวิ่งไปมาได้ไว ขณะที่ High-Latency แทนการเชื่อมต่อที่มีดีเลย์นาน แล้วเอาคำว่า Latency ไปครอบคลุมหรือเป็นซุปเปอร์เซ็ตของดีเลย์แทน โดยแบ่งดีเลย์ออกเป็น Propagation Delay ที่นับเวลาที่บิทแรกของข้อมูลวิ่งบนลิงค์ระหว่างผู้ส่งและผู้รับ, Transmission Delay ที่เป็นเวลาส่วนต่างอันเกิดจากคุณสมบัติของสื่อเอง, และ Processing Delay ที่เวลาที่ใช้ประมวลผลข้อมูลบนอุปกรณ์ระหว่างทาง เช่น เซิร์ฟเวอร์พร็อกซี่ หรือวิ่งข้ามเราท์เตอร์แต่ละวง (ซึ่งตรงกับความหมายของ Latency ในย่อหน้าก่อนนั่นเอง)

ปกติแล้ว ค่า Latency รวมตามความหมายหลังที่ได้รับความนิยมมากกว่านั้น สำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบ DSL และสายเคเบิลนั้น ยอมรับกันที่ไม่เกิน 100 มิลลิวินาที และปัจจุบันส่วนใหญ่มักทำได้ถึงระดับ 25 มิลลิวินาทีด้วยซ้ำ ขณะที่การเชื่อมต่อแบบผ่านดาวเทียม จะมี Latency มากกว่า 500 มิลลิวินาทีขึ้นไป ซึ่งเวลาเทียบกับทรูพุตแล้ว Latency มีผลต่อประสิทธิภาพของการเชื่อมต่อมาก อย่างอินเตอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการเปิดความเร็วมาที่ 20 Mbps อาจใช้งานได้ประสิทธิภาพน้อยกว่าบริการที่ความเร็ว 5 Mbps ก็ได้ถ้าวิ่งบนลิงค์ที่ High Latency

ที่มาของ Latency ยังมีอีกหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดหรือปัญหาที่ฮาร์ดแวร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์หมุนช้าเวลาจัดเก็บหรืออ่านข้อมูล หรือแม้แต่เป็นที่ตัวซอฟต์แวร์เอง เช่น โปรแกรมแอนติไวรัสที่คอยประมวลผลข้อมูลเข้าออก เป็นต้น

เราสามารถใช้ทูลเน็ตเวิร์กพื้นฐานอย่าง Ping และ Traceroute ในการวัด Latency ในรูปของเวลาที่ใช้ในการส่งแพ็กเก็ตข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทาง และกลับมาหรือที่เรียกว่า “Round-Trip Time (RTT)” ได้ ซึ่งค่าดังกล่าวยังนำมาใช้ในการจัดการฟีเจอร์ที่เรียกว่า Quality of Service (QoS) ได้ด้วย

ที่มา : Lifewire