Brian Richardson วิศวกรอาวุโสของ Intel ประกาศในงาน UEFI Plugfest ว่า ภายในปี 2020 ผลิตภัณฑ์ชิปเซ็ตใหม่ทของตน ทั้งสำหรับไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์ จะรองรับเฉพาะ UEFI Class 3 หรือสูงกว่า กล่าวคือ อินเทลเตรียมทอดทิ้งเทคโนโลยี BIOS แบบเดิม ด้วยการโละโค้ดเดิมออกจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง แล้วมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าอย่าง UEFI แทน
ทั้งนี้ Richardson ได้ให้เหตุผลสำคัญสามประการได้แก่ BIOS นั้นไม่ได้รองรับมาตรฐานสำหรับการบูทเครื่องที่ปลอดภัย หรือการรันโค้ดที่ต้องมีการจดทะเบียนรับรอง, เทคโนโลยีใหม่ก็ไม่สามารถทำงานร่วมกับ BIOS เดิมได้, และที่สำคัญคือ BIOS จำเป็นต้องใช้พาธในการตรวจสอบโค้ดสองตัว ได้แก่ CSM ON และ CSM OFF ทำให้มีความซับซ้อนมากเกินไป
BIOS ถือเป็นชุดเฟิร์มแวร์ที่มาพร้อมกับเมนบอร์ด ซึ่งมีโค้ดสำหรับเริ่มการทำงานของฮาร์ดแวร์ และใช้ในการบูทระบบ โดยเริ่มนำมาใช้งานครั้งแรกตั้งแต่ปี 1981 จากนั้นตั้งแต่ยุค 90 ก็เริ่มมีการใช้มาตรฐานใหม่อย่าง UEFI หรือ Unified Extensible Firmware Interfaceที่ครอบคลุมสถาปัตยกรรมพีซีได้กว้างและครอบคลุมกว่า แถมไม่ได้อิงกับโหมด 16 บิตเดิมสมัยโปรเซสเซอร์แบบ Intel x86 อย่างใน BIOS
นั่นคือ UEFI ให้การบูทที่เร็วกว่า, ความปลอดภัยที่ดีกว่า, ทางเลือกในการตั้งค่าที่หลากหลายกว่า, รวมทั้งเป็นสถาปัตยกรรมสากลที่รองรับฮาร์ดแวร์หลากหลายแบบ ที่สำคัญ เมนบอร์ดปัจจุบันต่างรองรับมาตรฐาน UEFI รวมถึงระบบปฏิบัติการต่างก็เปิดรับ UEFI ทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว
ที่มา : https://www.bleepingcomputer.com/news/hardware/intel-plans-to-end-legacy-bios-support-by-2020