หน้าแรก Internet of Things บทสรุป 10 อันดับเทคโนโลยีประจำปี 2019 โดย InformationWeek

บทสรุป 10 อันดับเทคโนโลยีประจำปี 2019 โดย InformationWeek

แบ่งปัน

เป็นช่วงเวลาที่สื่อหลายสำนักต่างออกบทความสรุปเรื่องที่เกิดในปีที่ผ่านมาบ้าง ทำนายสิ่งที่จะเกิดในปีหน้าบ้างกันทุกเจ้า ไม่เว้นแม้แต่ในวงการไอทีที่ถ้าหลับตาก็นึกออกได้ง่ายว่าจะต้องมีสิ่งที่กำลังพูดฮิตติดปากอย่างเช่น การปฏิวัติทางดิจิตอล, คลาวด์คอมพิวติง, AI, และควอนตัมคอมพิวติง เป็นต้น

แต่จุดที่วิเคราะห์ได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจนั้นได้แก่ รายละเอียดส่วนไหนของเทคโนโลยีเหล่านี้ที่จะเห็นพัฒนาการได้ชัดเจน หรือถูกนำมาใช้ในธุรกิจได้จริง หรือเทคโนโลยีใดจะเริ่มเสื่อมความนิยมไปตามเวลา เทคโนโลยีไหนที่องค์กรควรนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน และผู้บริหารด้านไอทีขององค์กรต่างๆ ควรเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ดังนั้นทาง InformationWeek จึงได้รวบรวมและคัดกรองการพยากรณ์จากบริษัทวิเคราะห์และที่ปรึกษาหลายเจ้า จนมาเป็นการคาดการณ์ที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้มากที่สุดในปี 2019 ที่จะมาถึงนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การคาดการณ์จากผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านไอทีส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางที่เชียร์ให้ซื้อของตัวเองมากกว่าจะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับองค์กรได้จริง ขณะที่การคาดการณ์จากกลุ่มนักวิเคราะห์มักเป็นประโยชน์กับผู้บริหารด้านไอทีมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่กำลังวางแผนเป้าหมาย, ตั้งงบประมาณ, และตัดสินใจลำดับความสำคัญของหัวข้อที่จะจัดอบรมพนักงานในปีหน้า

การคาดการณ์จากกลุ่มนักวิเคราะห์นั้นต่างแนะนำให้ฝ่ายไอทีขององค์กรจัดการลงทุนตามเทรนด์ที่คาดการณ์ไว้ โดยเห็นตรงกันเกี่ยวกับขั้นตอนที่องค์กรควรเตรียมตัว แต่ในส่วนของความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้น นักวิเคราะห์กลับมองเทรนด์แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเกียวกับผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจ และจุดที่ผู้นำองค์กรควรเตรียมตัวไว้มากที่สุด

ดังนั้น เราแนะนำให้ลองพิจารณาเทรนด์ท็อป 10 ด้านเทคโนโลยีต่อไปนี้เพื่อดูว่าหัวข้อไหนกระทบกับองค์กรของตัวเองมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจวางแผนเตรียมตัวให้เหมาะสมต่อไป

1. บนเวทีของการปฏิวัติทางดิจิตอล (Digital Transformation)

จะมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้หลายบริษัทมองว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานโดยไม่มีผลกระทบทางลบแต่ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำสำเร็จ โดยคาดการณ์ว่าจะมี 1 ใน 4 ที่ลงทุนแล้วไม่สำเร็จ แล้วยังทำให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งที่ไปได้ไกลกว่าด้วย เรียกว่าไอทีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินว่าบริษัทไหนจะอยู่จะไปเลยทีเดียว

2. คุณอาจจะเดือดร้อนจากการโจมตีทางไซเบอร์ “หรือไม่ก็ได้”

โดยผู้วิเคราะห์จากบางค่ายมองว่าการโจมตีทางไซเบอร์จะไม่สร้างผลกระทบที่ซีเรียสสำหรับภาพลักษณ์แบรนด์ และมีแนวโน้มที่จะกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าน้อยลงจนเหลือศูนย์ภายในปี 2012 เพราะอะไรเหรอ ก็เพราะโดนกันหมดทั้งบริษัทเล็กใหญ่จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา (และปลง) กันหมดแล้วไง

3. IoT จะถูกนำไปใช้ในทุกที่

โดยบริษัทส่วนใหญ่เริ่มทดสอบระบบเสร็จสิ้น และจะนำ IoT มาใช้งานจริงในปีหน้า โดยเฉพาะระบบที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมหรือ IIoTในรูปเซ็นเซอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับอำนวยความสะดวกในงานผลิตและการทำงาน อย่างในวงการดูแลสุขภาพ, ร้านค้าปลีก, และโครงสร้างพื้นฐาน

4. ความช่วยเหลือที่การซัพพอร์ตที่ดีนั้นหายาก

เพราะแรงงานไอทียังขาดตลาด แนะนำให้บริษัทต่างๆ ลงทุนด้านการอบรมทักษะทางดิจิตอลแก่พนักงานมากขึ้นจะโอเคกว่าการแย่งผู้สมัครงานกับบริษัทเจ้าอื่น

5. ถึงยุคหุ่นยนต์มาทำงานแทนจริงๆ แล้ว

จากเทคโนโลยี AI ทำให้หุ่นยนต์ทำงานแบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากถึง 40% โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ไร้ตัวตนหรืออยู่ในรูปซอฟต์แวร์ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ที่มีทักษะเฉพาะด้าน

6. AI จะเจอปัญหาการเติบโต

เนื่องจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย รวมทั้งข้อจำกัดจากกฎหมายของภาครัฐ อีกทั้งความคาดหวังเกี่ยวกับ AI ที่มักสูงเกินจริง (แต่พอลงทุนทำจริงกลับไม่ได้ดังใจ) และปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้าน AI ที่ป้อนตลาดไม่ทันด้วย

7. ยินดีต้อนรับสู่ยุคทองของวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ด้วยการหันมาใช้ระบบอัตโนมัติในการประมวลผลข้อมูล จนแทบไม่ต้องใช้ความรู้ด้านโค้ดโปรแกรมใดๆ ก็ทำให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลได้เหมือนผู้เชี่ยวชาญ

8. คลาวด์จะช่วยผลักดันนวัตกรรมใหม่อย่างแท้จริง

ช่วงแรกที่คนหนีขึ้นคลาวด์เพราะต้องการลดต้นทุน และความสะดวกในการเข้าถึง แต่ตอนนี้เรามาถึงเฟสที่สองที่คลาวด์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันผลลัพธ์ของธุรกิจ เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เร็วขึ้น ได้ช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้จากความยืดหยุ่นของคลาวด์

9. การประมวลผลแบบควอนตัมยังเป็นแค่ความฝัน

นอกจากธุรกิจกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมแบบควอนตัมได้จริงแล้ว บริษัทอื่นยังแทบจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ไปจนถึงปี 2022

10. บริษัทที่ใหญ่อยู่แล้วยังโต (และเขมือบตัวเล็กตัวน้อย) ได้อีกมาก

ท่ามกลางสตาร์ทอัพที่สตาร์ทผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เราก็เห็นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเดิมอย่างแอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์, แอมะซอน, กูเกิ้ล, และเฟซบุ๊กยังหวงส่วนแบ่งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น แถมมีแนวโน้มที่จะมีลูกค้าขยายไปทั่วโลกจนเขมือบตลาดได้ถึง 40% เช่น ผู้ให้บริการคลาวด์แบบสตาร์ทอัพ ย่อมไม่สามารถแข่งยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพให้บริการทั่วโลกอยู่แล้วได้ เป็นต้น