หัวเว่ยได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา คัดค้านการเห็นชอบมาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ฉบับปี 2562 (2019 National Defense Authorization Act: NDAA) โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้ หัวเว่ยต้องการขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาแสดงสิทธิของบุคคลว่า การกีดกันที่พุ่งเป้าไปที่หัวเว่ยนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้มีคำสั่งห้ามกฎหมายกีดกันนี้เป็นการถาวร
“สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการสร้างหลักฐานสนับสนุนคำสั่งกีดกันของสหรัฐอเมริกาต่อผลิตภัณฑ์หัวเว่ย เราจึงถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกดำเนินการทางกฎหมายเป็นทางออกสุดท้าย” มร. กัว ผิง ประธานกรรมการบริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าว “การแบนหัวเว่ยนี้ไม่เพียงแค่ผิดหลักกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการจำกัดไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคของสหรัฐฯ เสียประโยชน์ในที่สุด เราจะตั้งตารอคำตัดสินของศาล และเชื่อว่าคำตัดสินนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งหัวเว่ยและชาวอเมริกัน”
หัวเว่ยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงสหรัฐฯ ที่เมืองพลาโน รัฐเท็กซัส ตามคำร้องดังกล่าว มาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ฉบับปี 2562 ไม่เพียงห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ ทุกหน่วยงาน ซื้ออุปกรณ์และบริการของหัวเว่ยเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้ทำสัญญาหรือให้เงินสนับสนุนหรือเงินกู้ยืมแก่บุคคลที่สามที่ซื้ออุปกรณ์หรือบริการของหัวเว่ยโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดีจากศาลหรือจากผู้บริหารด้วย การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายจำกัดตัดสิทธิบุคคล (Bill of Attainder Clause) และกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย (Due Process Clause) นอกจากนี้ ยังละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เพราะสภาคองเกรสกำลังทำหน้าที่ทั้งออกกฎหมาย และพยายามพิจารณาตัดสินและบังคับใช้กฎหมายนี้ไปพร้อม ๆ กัน
มร. ซ่ง หลิ่วผิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย กล่าวย้ำว่า “มาตรา 889 นั้นอิงจากข้อสมมติฐานที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ได้รับการพิสูจน์และการตรวจสอบ และตรงกันข้ามกับข้อสมมติฐานดังกล่าว รัฐบาลจีนไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้ควบคุม และไม่มีอิทธิพลชักจูงหัวเว่ยแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น หัวเว่ยมีบันทึกสถิติและโปรแกรมด้านความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม และจนถึงขณะนี้สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานโต้แย้งใดๆ”
ในมุมมองของหัวเว่ย ข้อจำกัดของ NDAA กีดกันไม่ให้บริษัทสามารถจัดหาเทคโนโลยี 5G ที่มีความก้าวล้ำกว่าให้แก่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ ซึ่งจะทำให้การใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ล่าช้าออกไป และเป็นการขัดขวางความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่าย 5G ในสหรัฐอเมริกาให้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ใช้เครือข่ายในพื้นที่ชนบทและห่างไกลของสหรัฐฯ จะถูกบังคับให้เลือกระหว่างผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลให้ทุนสนับสนุนหรือผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่า สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการอัพเกรดเครือข่าย และทำให้ช่องว่างด้านดิจิทัลขยายกว้างออกไปอีก และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การกีดกันหัวเว่ยจะทำให้การแข่งขันในตลาดหยุดชะงัก และทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินในราคาสูงขึ้นเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ด้อยประสิทธิภาพกว่า
มร. กัว ผิง กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้อย่างที่ควรจะเป็น หัวเว่ยจะสามารถนำเทคโนโลยีที่มีความก้าวล้ำกว่ามาสู่สหรัฐอเมริกา และช่วยสร้างเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุดได้ หัวเว่ยยินดีที่จะพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับข้อกังวลด้านความปลอดภัยของรัฐบาลสหรัฐฯ การยกเลิกการแบนตามกฎหมาย NDAA จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกับหัวเว่ย และจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่แท้จริงได้”