หัวเว่ยชี้อีโคซิสเต็มของเทคโนโลยี cloud ผสานนวัตกรรม AI และ IoT ยุคใหม่ จะช่วยลดต้นทุน เสริมประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณภาพบริการแก่ธุรกิจไทย ผลักดันทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศสู่ยุค “อัจฉริยะ” อย่างสมบูรณ์แบบ
เผยภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมธุรกิจในภาพรวมจะปรับมาใช้งาน cloud อย่างเต็มตัว นำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความเร็วในการรับส่งข้อมูล รวมถึงอีโคซิสเต็มของ cloud จะเป็นสิ่งที่บรรดาผู้ให้บริการ cloud ต้องให้ความสำคัญในอนาคต
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางการนำเทคโนโลยี cloud, AI และ IoT มาปรับใช้กับภาคธุรกิจในประเทศไทยว่า “การร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีทั้งด้านนโยบายภาครัฐและการสนับสนุนจากเอกชนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายผลักดันด้านเทคโนโลยีไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การสร้างโครงข่ายนวัตกรรมรวมถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้ใช้งานชาวไทยอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่เรานำเสนอครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Carrier, Enterprise, Consumers และ cloud & AI เพื่อให้สามารถส่งมอบอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรอบด้าน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industry) ได้อย่างรวดเร็วขึ้น”
“เทคโนโลยี cloud ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรองรับเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI, IoT, VR/AR, 5G เพื่อนวัตกรรมโครงข่ายแห่งอนาคต เนื่องจาก cloud เป็นดั่งรันเวย์ที่เสริมพลังการขับเคลื่อนด้านการประมวลผลให้แก่เทคโนโลยีเหล่านี้ หัวเว่ยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเทคโนโลยี cloud ด้วยการลงทุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับให้บริการ cloud ในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก รวมถึงกลยุทธ์ Cloud First ที่มุ่งเน้นพัฒนาอีโคซิสเต็มสำหรับประเทศไทยเพื่อการส่งมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งานชาวไทย” นายอาเบล เติ้ง กล่าวเพิ่มเติม
นางปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานกรรมการ แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การผสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยี cloud, AI และ IoT จะช่วยผลักดันให้เกิด Smart City ในระดับประเทศ เช่น ระบบการจัดการเมืองอัจฉริยะ การจัดการจราจรแบบอัจฉริยะ หรือการตรวจสอบภาคสนามทางไกลผ่านหุ่นโดรน เป็นต้น ส่วนในระดับภาคเอกชน การผสานของเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยปรับกระบวนการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจในหลายมิติ โดยระบบเครือข่ายรวมไปถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ของ Internet of Things (IoT) จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายส่วนแล้วส่งขึ้นไปให้ AI ช่วยประมวลผลบน cloud ส่งผลให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหลังบ้าน และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าได้”
“cloud, AI และ IoT จะช่วยปรับระบบการปฏิบัติงานในองค์กรให้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงระบบจัดการย่อยๆ อย่างระบบไฟในสำนักงานหรือระบบประสานงานต่างๆ ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการลดลง การดำเนินงานในบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานในบริษัทก็จะสามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น ดึงให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย” นางปิยะธิดากล่าวเสริม