บล็อกเชน เป็นชุดข้อมูลถาวรที่มีการบันทึกเวลาประกอบ และถูกจัดการผ่านกลุ่มคอมพิวเตอร์หลายเครื่องพร้อมกัน ไม่ได้มีเครื่องไหนหรือองค์กรกลางใดเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ทำให้มีคุณสมบัติของการต้านทางการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยไม่ถูกต้อง และอำนวยความสะดวกในการแบ่งปัน
ข้อมูลที่อยู่ในรูปบล็อกเชนนี้ถือเป็นสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ละบล็อกข้อมูลจะได้รับการปกป้องและเชื่อมต่อกับบล็อกอื่นด้วยหลักการเข้ารหัส เช่น การร้อยเข้ากันเป็นลูกโซ่หรือ Chain เทคโนโลยีนี้เริ่มดังเป็นพลุแตกตั้งแต่ ซาโตชิ นากาโมโต้เอามาใช้เปิดตัวบิทคอยน์
แต่ปัจจุบันก็มีการใช้งานที่หลากหลายกว่าการทำเป็นเงินสกุลดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวตนทางดิจิตอล, ใช้ตรวจสอบซัพพลายเชน, ติดตามทรัพย์สินที่มีค่าอย่างเครื่องประดับ ฯลฯ จนยักษ์ใหญ่อย่าง IBM และซัมซุงกำลังพัฒนาบล็อกเชนให้เป็นนวัตกรรมใหม่ และคาดว่างานด้านนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 33 เท่า
สำหรับผู้ที่ตั้งมั่นจะเป็นนักพัฒนาบล็อกเชนนั้น ควรมีทักษะที่เกี่ยวข้อง 5 ประการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ด้านโครงสร้างข้อมูล, ด้านระบบและเครือข่ายแบบกระจายหรือ Distributed, ด้านการเข้ารหัสหรือ Cryptography, ด้านเศรษฐศาสตร์คริปโตหรือ Cryptonomics เช่น Game Theory, และด้านระบบ Smart Contracts
1. โครงสร้างข้อมูล
ถือเป็นสิ่งแรกที่ต้องเข้าใจอย่างถ่อแท้ เพราะบล็อกเชนนั้นมีลักษณะค่อนข้างซับซ้อน จากการที่ต้องกระจายข้อมูลบนเครือข่ายเพื่อทำซ้ำฐานข้อมูลจัดเก็บในรูปบล็อกด้วยการใช้เทคนิคเข้ารหัสชั้นสูงเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลยังรักษาความถูกต้องเวลาที่มีบล็อกข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามา ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างข้อมูลที่จำเป็นได้แก่ รายการเชื่อมต่อ (Linked List), ทรีสำหรับค้นหาแบบไบนารี, Hash Map, กราฟต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งควรเรียนรู้ภาษาโปรแกรมมิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างเช่น Python, Java, C++ เป็นต้น
2. ระบบและเครือข่ายแบบ Distribute
เนื่องจากเทคโนโลยีบล็อกเชนอาศัยการเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์อยู่เบื้องหลังการทำงาน ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Distributed Ledger, เครือข่ายแบบ Perr-to-Peer, แผนผังเครือข่ายหรือ Topologies, และเรื่องเราท์ติ้งจึงสำคัญมากด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องหรือ Byzantine fault-tolerant consensus
3. เทคโนโลยีเข้ารหัส หรือ Cryptography
เป็นรากฐานสำคัญของบล็อกเชน ตัวอย่างเช่นบิทคอยน์ที่ใช้การเข้ารหัสแบบ Public-key เพื่อสร้างลายเซ็นดิจิตอลและฟังก์ชั่นแฮช ดังนั้นถ้าต้องการเป็นนักพัฒนาด้านบล็อกเชนแล้ว ก็ควรมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์อย่างดีด้วย นอกจากนี้เรื่องของการเข้ารหัสยังรวมถึงการเข้ารหัสแบบยืนยันตน, การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล, ตัว Block Cipher, และ Hash Function ที่เป็นฟีเจอร์สำคัญของการเข้ารหัสในบล็อกเชน รวมทั้งยังควรศึกษาเกี่ยวกับ RSA (Rivest–Shamir–Adleman) และ ECDSA (elliptic curve cryptography) ด้วย
4. Cryptonomics
เนื่องจากสกุลเงินคริปโตทั้งหลายไม่ได้มีธนาคารกลางมาคอยตรวจสอบธุรกรรม ดังนั้น การที่จะสามารถตรวจเช็คการทำงานของบริษัทด้านคริปโตได้นั้น ก็จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องของเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ทฤษฎีเกม (Game Theory), การตีมูลค่าสกุลเงิน, และนโยบายด้านการคลังหลากหลายแบบที่เกี่ยวกับเงินคริปโต ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหนังสืออย่าง The Business Blockchain: Promise, Practice and Application of the Next Internet Technology, Blockchain: Blueprint for the New Economyเป็นต้น
5. Smart Contracts
เป็นโปรแกรมที่รันบนบล็อกเชนหลังจากที่ธุรกรรมสำเร็จแล้ว ซึ่งแม้ชื่อจะบอกว่าเป็นสัญญา แต่ก็ไม่ได้มีพิธีกรรมทางกฎหมายอะไรมาบังคับ หรือจำเป็นต้องให้ทนายความเข้ามาตรวจสอบเหมือนสัญญาจริง ตัวสัญญาอัจฉริยะนี้เป็นระบบที่รันแบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับความสามารถของตัวบล็อกเชน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีนักพัฒนาจำนวนน้อยมากที่เข้าใจหรือสามารถออดิทสมาร์ทคอนแทรกต์นี้ได้ ยิ่งสัญญาอัจฉริยะนี้มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนที่ทำงานด้านนี้ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
ที่มา : Technotification