ทุกวันนี้ ทุกบ้านต่างมีอุปกรณ์อย่างน้อยหนึ่งชิ้นที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตภายนอก ยังไม่นับรวมอุปกรณ์ติดตัวอย่างแล็ปท็อป, แท็บเล็ต, และสมาร์ทโฟน ซึ่งอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้มักตกเป็นเครื่องมือให้แฮ็กเกอร์นำไปใช้โจมตีชาวบ้าน หรือลากคุณไปเอี่ยวกับอาชญากรรมโดยไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะโดนสิงเป็นซอมบี้ร่วมในกองทัพ DDoS หรือกลายเป็นอุปกรณ์สายลับสืบข้อมูลในบ้านซะเอง เป็นต้น
การรักษาความปลอดภัยให้แก่อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทาง SecureReading.com ได้รวบรวมทิปเด็ด 9 ประการที่ช่วยปัดรังควานแฮ็กเกอร์ไม่ให้มาข้องแวะกับทรัพย์สินในบ้านของคุณไว้ดังต่อไปนี้
1. เปลี่ยนรหัสผ่าน หรือเปลี่ยนค่าเซ็ตติ้งที่มาจากโรงงาน โดยให้แน่ใจว่ามีการตั้งรหัสที่แข็งแกร่งเพียงพอ รวมทั้งปิดฟีเจอร์ Universal Plug and Play (UPnP)บนเราเตอร์และอุปกรณ์ IoT เท่าที่ทำได้
2. แบ่งเครือข่ายออกเป็นส่วนย่อยๆ เราท์เตอร์บางรุ่นสามารถแบ่งเครือข่ายฝั่งแลนได้ด้วย ซึ่งก็ควรแยกเครือข่ายของพวก IoT ออกจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานหรือเข้าถึงเว็บออนไลน์แบ้งกิ้ง
3. อัพเดตเฟิร์มแวร์ของอุปกรณ์ IoT อยู่เสมอ เพื่อแพ็ตช์ช่องโหว่ก่อนที่แฮ็กเกอร์จะใช้เป็นช่องทางเข้าถึงหลังบ้านของคุณ
4. หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับเครือข่ายสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย พยายามใช้ HTTPS และหลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งใช้ VPN ทุกครั้งที่เชื่อมต่อเข้าเครือข่ายภายในบ้านจากระยะไกล
5. ปลดการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต เช่น ถ้าใช้ปริ้นเตอร์ผ่านสาย USB ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดการเชื่อมต่อ Wi-Fi
6. พึงระวังอุปกรณ์ทุกตัวที่เชื่อมต่อเน็ตได้ ที่คุณอาจมองข้าม ที่จำเป็นต้องเข้าตั้งค่าและรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสมให้ครอบคลุม เช่น เกมคอนโซล, เครื่องเล่นเพลง, หรืออุปกรณ์อะไรที่มีไมค์หรือกล้อง เป็นต้น
7. ใช้ไฟร์วอลล์เพื่อปิดกั้นทราฟิกที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น การใช้ระบบ UTM ในจุดที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสแกนเนอร์, ปริ๊นเตอร์, ทีวี, ประตูอัตโนมัติ, หรือแม้แต่เทอร์โมสแตต
8. ระวังความปลอดภัยทางกายภาพด้วย เช่น อุปกรณ์ที่มีพอร์ตแลนว่างให้คนภายนอกแอบมาเสียบเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายในบ้านได้ง่ายๆ
9. ศึกษาให้ดีก่อนซื้ออุปกรณ์ IoT นั้นๆ มาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความเป็นส่วนตัว พยายามเลือกผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น ใช้การเชื่อมต่อที่เข้ารหัส หรือมีการอัพเดตอยู่เสมอ
ที่มา : https://securereading.com/nine-tips-for-securing-iots-and-smart-home-devices