หน้าแรก Home Case Study Fake News ปัญหาโลกแตกของชาวออนไลน์ – บทความโดย อ.โอภาส

Fake News ปัญหาโลกแตกของชาวออนไลน์ – บทความโดย อ.โอภาส

แบ่งปัน
ภาพโดย John Iglar จาก Pixabay

สื่อออนไลน์เดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องไหนที่ถูกจริตกับเราและชอบเป็นพิเศษเราก็มักจะตัดสินใจกดไลก์ กดแชร์กันอย่างไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง และเมื่อเรามีส่วนร่วมกับเรื่องนั้นๆ ก็มักมีเรื่องโน้นๆ ที่มีความใกล้เคียงสอดคล้องกับเรื่องนั้นๆ ก่อนหน้ามาคอยป้อนหลอกล่อให้เราได้อ่านได้เสพอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็เป็นกลไกธรรมชาติของ Social Media ยุคปัจจุบัน

ซึ่งถ้าข่าวใดที่เป็นจริงก็แล้วไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามข่าวนั้นเป็นเรื่องเท็จไม่ได้รับการกรองสักแต่ว่าแชร์ๆ ต่อกันไปแล้วนั้นซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามเป็นพิเศษก็มักจะก่อให้เกิดความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตามมาอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมามีความพยายามและกระบวนการในการต่อต้านข่าวปลอมมาโดยตลอดเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรใดๆ ก็ตามที่เรามักพบเห็นกันโดยทั่วไป แต่ในโลกของความเป็นจริงข่าวปลอมมักจะนำหน้ากระบวนการต่อต้านข่าวปลอมหนึ่งก้าวอยู่เสมอ

และด้วยกลไกของข่าวปลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในโลกยุค Social Media นี่เองที่เป็นเหมือนดาบสองคมนั่นคือคมแรกบริษัทต่างๆ ใช้กลไกนี้สร้างกระแสให้เกิดการตีข่าวสองแง่สองง่ามเพื่อหวังผลทางการตลาดทั้งที่บางเรื่องมีความสุ่มเสี่ยงทางด้านศีลธรรมจรรยาก็ตามที บางครั้งได้ดีก็ดีไป แต่บางครั้งอาจทำให้บริษัทย่ำแย่ก็อาจเป็นได้ ส่วนคมที่สองนั้นมักเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่ใช้กลไกความตื่นตัวทางด้านการข่าวผ่าน Social Media ให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมไม่ว่าจะแง่มุมใดๆ ซึ่งต้องขอชื่นชมกับคมหลังนี้เป็นอย่างยิ่ง

ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนตกเป็นประโยชน์ของเจ้าของสื่อ Social Media อย่างหน้าชื่นตาบานกันทั้งนั้นไม่ว่าจะออกทางคมดีหรือคมไม่ดี แต่สิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนักอย่างยิ่งยวดนั่นคือสติที่ต้องมีในโลกยุคความเปลี่ยนแปลงสูงและรวดเร็วในปัจจุบันนี้ต้องรู้เท่าทันและมีกระบวนการกรองสื่อต่างๆ ที่เรารับเข้ามาอย่างพิถีพิถันมากกว่าโลกยุคเดิมเป็นร้อยเท่าพันเท่าก่อนที่จะตัดสินใจส่งต่อสิ่งที่ตัวเองได้รับให้แก่ผู้อื่น และสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสมาเมื่อสองพันปีกว่ายังใช้ได้อยู่เสมอนั่นคือ “สะติ เตสัง นิวาระนัง-การมีสติ ช่วยป้องกันความเลวร้ายได้”

ผู้แต่ง : นายโอภาส หมื่นแสน วิศวกร สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่