ที่งาน Telecom Infra Project 2018 Summit ที่กรุงลอนดอนเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมานั้น เฟสบุ๊กได้เปิดตัวโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ทำงานร่วมกับผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์จำนวนมากในการแยกส่วนระบบกับซอฟต์แวร์ออกจากกันเพื่อเป็นอิสระจากการผูกขาด ซึ่งล่าสุดเป็นกรณีของระบบเชื่อมต่อลิงค์ใยแก้วนำแสงสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ที่คลอดออกมาเป็น API ในชื่อ Transponder Abstraction Interface (TAI)
API ใหม่นี้เปิดให้ผู้จำหน่ายต่างๆ สามารถเขียนซอฟต์แวร์สำหรับจัดการฮาร์ดแวร์เปิดที่ชื่อ Voyager ซึ่งเป็นเราท์เตอร์และทรานสปอนเดอร์ที่เฟสบุ๊กออกแบบมาสำหรับเครือข่ายไฟเบอร์แบบ DWDM (Dense Wavelength Division Multiplexing) โดยเป็นลิงค์ที่ทำให้ส่งหลายสัญญาณมัลติเพล็กซ์ภายในเส้นใยแก้วนำแสงเดียวกันได้ ด้วยการแบ่งใช้ความถี่แตกต่างกัน
โปรเจ็กต์นี้จะทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกสามารถสื่อสารระหว่างกันในระยะไกลผ่าน DWDM ได้แม้จะไกลเป็นพันๆ ไมล์ก็ตาม และด้วย TAI ทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเขียนซอฟต์แวร์สำหรับฮาร์ดแวร์ของผู้ผลิตแต่ละเจ้าอีก
ทาง Cumulus Network ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หลักที่อยู่เบื้องหลักโครงการ TAI นี้กล่าวว่า API ที่ถูกพัฒนาขึ้นจะช่วยกำจัดแรงเสียดทานหรือเงื่อนไขของผู้จำหน่ายระบบปฏิบัติการเครือข่ายแต่ละเจ้า ในการรองรับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ รวมทั้งเปิดให้ผู้ผลิตชิปสามารถนำโซลูชั่นของตัวเองออกสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจากการที่มีซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่เปิดใช้งาน
ที่มา : Datacenterknowledge