วันที่ 8 พฤศจิกายน 67 ที่ผ่านมา ETDA และ TDRI ได้ร่วมกันจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นด้าน “หลักการ” ของ (ร่าง) พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพ ซึ่งแม้เป็นแค่การนำ “หลักการ” มาอธิบายเพื่ออภิปรายสำรวจความคิดเห็น ก่อนจะนำไปใช้ประกอบและพัฒนาเป็น ร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งฉบับร่างฯ นั้น ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส TDRI คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จแล้วเปิดให้ทำประชาพิจารณ์อีกรอบราวต้นปี
การประชุมรับฟังความคิดเห็นนี้ มีผู้สนใจจากเจ้าของแพลตฟอร์มทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มจากจีน เนื่องจากมีผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจ กระบวนการปฏิบัติตามทางกฎหมาย และต้นทุน ที่สำคัญ คาดว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายหลัก (Lex Generalis) ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะ (Lex Specialis)
กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมุ่ง “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม” เพื่อป้องกันการครอบงำและอำนาจเหนือตลาดจาก “ผู้ให้บริการที่มีอำนาจควบคุมการเข้าถึงบริการของผู้อื่น” (Gatekeeper)
โดยหลักการที่จะเป็นร่างกฎหมายฉบับนี้ มุ่งดูแล กำกับ และป้องกันปัญหาล่วงหน้าได้ (Ex-Ante) ใน 2 มิติ ได้แก่ มิติที่หนึ่ง เป็น “มิติภายในแพลตฟอร์ม” โดยมุ่งหวังคุ้มครองและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมให้ ผู้ใช้งานในห่วงโซ่มูลค่าต่างๆ เช่น ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ส่ง และผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ภายในแพลตฟอร์มดิจิตอล กับ มิติที่สอง “มิติการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม” เพื่อคุ้มครองการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างแพลตฟอร์มดิจิตอลกันเอง โดยเฉพาะบางแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเป็นซูเปอร์แอพ ที่สามารถครอบงำตลาดที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในมิติแนวดิ่งแนวกว้าง และกลไกทางการตลาด
ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีต้นร่างความคิดมาจากกฎหมายอียู 2 ฉบับซึ่งประกาศใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2022 ได้แก่ Digital Service Act และ Digital Market Act โดยปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มที่เป็น Gatekeeper ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไว้แค่ 7 ราย ได้แก่ Alphabet (Google), Amazon, Apple, Booking, ByteDance, Meta (Facebook/Instagram) และ Microsoft โดยกำกับดูแล “ชนิดบริการ” (core services) ของบริษัททั้ง 7 รายนี้ไว้ทั้งหมด 24 บริการ ตั้งแต่เรื่องการครอบงำด้านช่องทางการตลาดออนไลน์, ช่องทางการสื่อสารและโซเชียลมีเดีย ซึ่งแหล่งปล่อยข่าวเท็จและข่าวผิด (disinformation/ misinformation), การผูกขาดโดยบราวเซอร์และโอเอส, ระบบเสิร์ชค้นหา, ระบบแนะนำโฆษณา จองที่พักและเที่ยวบินที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยคนและเอไอ รวมทั้งแพลตฟอร์มแชร์วิดีโอซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องกำกับดูแล
งานสัมมนาครั้งนี้มีการอภิปรายเรื่องแพลตฟอร์มเรียกใช้รถ เช่น แท็กซี่ หรือรถบ้าน ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยการอ้างอิงตนเอง (self-preferencing) โดยตามระเบียบของกรมการขนส่ง ระบุให้อันดับแรกในการนำเสนอตัวเลือกให้ประชาชนควรจะเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ เนื่องจากผ่านการคิดไตร่ตรองเรื่องการควบคุมราคาที่เป็นธรรมตามระยะทางและเวลาไว้แล้ว แต่หลายแพลตฟอร์มไม่ปฏิบัติตาม กลับใช้กลไกแปรผันราคาตามดีมานด์-ซัพพลาย และเวลาเร่งด่วน ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดีและมีความก้าวหน้าทันยุคสมัยเอไอ โดยอ้างอิงกับอียูซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับของนานาชาติและไม่ผิดระเบียบกติกาการค้าของโลก โดยภาพรวม กฎหมายนี้น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภค และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเรื่องการกำกับเนื้อหาและข่าวสารในแพลตฟอร์มต่างๆ (content moderation, spread of harmful/illegal content) ซึ่งอิงตามกฎหมาย Digital Service Act ของอียู และเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและมีอันตรายต่อระบบนิเวศเศรษฐกิจของประเทศ (fostering fair competition, targeting Gatekeepers)
แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่ากังวลสำหรับผู้ประกอบการ เช่น เรื่องจำนวนแพลตฟอร์มที่จะกำกับดูแลทั้ง 10 ชนิด การแก้ไขนิยามและเกณฑ์การขึ้นทะเบียน Gatekeeper ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลาตามดุลพินิจของกรรมการ และที่สำคัญ เรื่องการบังคับใช้และโทษทางแพ่งหรืออาญา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อีกทั้งความซับซ้อนของเทคโนโลยี เช่น พรมแดนนิยาม “ชนิดของแพลตฟอร์ม” ที่เป็นได้ในหลายชนิดทั้งในมิติแนวดิ่งและแนวกว้าง เป็นไปได้ทั้งเอไอและเสิร์ชเอ็นจิน เป็นไปได้ทั้งช่องทางการตลาดออนไลน์ ผู้บริการรับส่งสินค้า และผู้ให้บริการด้านการเงิน เป็นต้น
โดยสรุปกฎหมายนี้แม้จะเน้นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ยังคงเป็นแค่การกำกับดูแลเฉพาะการแข่งขันบนภาคพื้นอากาศ จำกัดตัวเองแค่ “ดิจิตอล” แพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้ดูแลผลกระทบที่ดิจิตอลแพลตฟอร์มทำร้าย (harmful) ต่อระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมบนภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่อิงกายภาพ (Physical Platform) เช่น ธุรกิจห้องแถวห้างร้าน อุตสาหกรรมการผลิตน้อยใหญ่ และ SME ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 90% ของบริษัทไทยทั้งหมด ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการการตลาดแบบยอมขาดทุนเพื่อซื้อส่วนแบ่งตลาดจากแพลตฟอร์มดิจิตอลขนาดใหญ่ ทำให้ SME จำนวนมากล้มหายตายจากตามที่ประจักษ์เห็นตามห้องแถวร้างข้างถนนต่างๆ
รัฐฐะและหน่วยงาน อาจลืมนึกไปว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มจ้างงานและบริษัทขนาดใหญ่ มีการจ้างงานน้อยกว่าธุรกิจ SME นับพันเท่า เมื่อ SME ล้มหลาย การจ้างงานและการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลก็ทรุดตัวลง กลายเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” และเป็นภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชน และของประเทศ เช่นนี้แล้ว เจตจำนงเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของร่างพรบ. ฉบับนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? หรือจะใช้หลักการ do nothing แล้วอิงการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) โดยรัฐพึงใจแค่ผู้บริโภคที่จะ “ซื้อง่าย จ่ายถูก” โดยไม่สนใจความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว ไม่สนใจกลไกปกป้องและเสริมแรงแต้มต่อ (protection/handicap) เพื่อให้ SME ยังคงมีที่ยืน และจ้างงานจำนวนมากๆ ได้อยู่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเด็กจบปริญญาแล้วไปเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นฟรีแลนซ์ไร้อนาคตที่มั่นคง และผีน้อยแรงงานผิดกฎหมายในต่างแดนที่รัฐไม่เหลียวแล
บทความโดย : วิโรจน์ อัศวรังสี, ผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือ AI and Machine learning for Coders เส้นทางและหลักการสู่การโค้ด AI