เอปสัน ประเทศไทย แถลงผลดำเนินงานปี 64 ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทและโปรเจคเตอร์ เพื่อตอบโจทย์ตลาด B2B พร้อมเน้นจุดแกร่ง 5Ss สร้างการเติบโตมากกว่า 10% และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนภายในองค์กร
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2564 ว่า “บริษัทฯ มีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งมาจากการเติบโตของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของ 2564 เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากกระแส Digital Transformation การที่สถาบันศึกษากลับมาเปิดทำการเป็นปกติในบางช่วง รวมไปถึงการออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการใช้เงินกู้ในโครงการต่างๆ อีกทั้งภาคการผลิตในไทยยังเริ่มหันมาใช้ระบบซัพพลายเชนภายในประเทศเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้มีการลงทุนด้านไอทีในประเทศเพิ่มขึ้น”
“ในส่วนของบริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขยายทีมขายและทีมบริการลูกค้า B2B ในกรุงเทพและต่างจังหวัด และทีมพิเศษที่เน้นเจาะลูกค้าองค์กรญี่ปุ่น โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งยังได้เพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาด B2B และได้ฝึกอบรมตัวแทนเดิมให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาด B2B ได้ ในด้านการขาย บริษัทฯ ได้ใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาสนับสนุนการขายลูกค้าองค์กรธุรกิจ ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ เอปสันยังคงนำเข้าสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า โดยที่สินค้าใหม่จะมีจุดขายพิเศษและแตกต่างจากแบรนด์อื่นในด้านความมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในขณะนี้ ส่วนการตลาด ได้มีการจัดกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า 200 กิจกรรม เพื่อเข้าถึงลูกค้าใหม่มากขึ้นและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรณรงค์เรื่องความยั่งยืน ผ่านการใช้เทคโนโลยี Heat-Free ของเอปสันที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ ซึ่งช่วยลดความร้อนในที่ทำงาน ลดค่าไฟ ลดค่าซ่อมบำรุง และลดชิ้นส่วนสิ้นเปลืองได้มากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี”
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทระบบแท็งค์ เอปสันยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 46% ในด้านมูลค่า และ 43% ในด้านจำนวนเครื่องที่ขายได้ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 18% นอกจากนี้ ในกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ทระบบหมึกความจุสูง ยังขายเครื่องได้เพิ่มขึ้น 30% เป็นเพราะปัจจุบันเริ่มมีบริษัทเอกชนจำนวนเพิ่มขึ้นที่ตระหนักถึงการลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเปลี่ยนจากการใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องถ่ายเอกสารมาเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท ซึ่งเทรนด์นี้น่าจะยังคงเติบโตต่อไป
ส่วนในกลุ่มเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ เครื่องพิมพ์ฉลากที่เติบโตมากที่สุดที่ 63% ปัจจุบันโรงพิมพ์ได้รับออเดอร์ในรูปแบบดิจิทัลออนดีมานด์มากขึ้น เพราะลูกค้าไม่ต้องการสต๊อกฉลากแบบเดียวไว้จำนวนมากเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล คลินิก หรือสตาร์ทอัพผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและอาหารเสริมก็หันมาลงทุนกับเครื่องพิมพ์ประเภทนี้กันมากขึ้น ตามมาด้วยเครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว เพราะทั้งศูนย์การค้า ร้านค้า และธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและรีโนเวทหน้าร้านมากขึ้น เติบโต 21%
สำหรับยอดขายของผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์ในปีที่ผ่านมา ในส่วนของโปรเจคเตอร์ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาโตที่ 11% ส่วนหนึ่งมาจากการที่สถาบันการศึกษา บริษัท และหน่วยงานต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้ง นอกจากนี้ ในกลุ่มโฮมโปรเจคเตอร์ก็มีสัญญาณที่ดี เพราะในช่วงโควิด มีลูกค้าจำนวนมากที่หันมาลงทุนทำโฮมเธียเตอร์ระดับไฮเอนด์ สำหรับรับชมภาพยนตร์และเล่นเกมบนจอภาพขนาดยักษ์ด้วยภาพฉายคุณภาพสูง ซึ่งเอปสันเริ่มมีสินค้าใหม่เข้ามารองรับตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นแล้ว
สุดท้ายคือผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์แขนกล ซึ่งในปี 2564 มียอดขายเติบโตขึ้นมากกว่า 60% โดยลูกค้าหลักยังอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปัจจัยที่หุ่นยนต์แขนกลของเอปสันได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างมาก เนื่องจากเอปสันอยู่ในวงการนี้มาเกือบ 40 ปี มีการทำ R&D อยู่ตลอดเวลา หุ่นยนต์ของเอปสันมีความแม่นยำสูง สามารถใช้งานได้ดีในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญ มีการบำรุงรักษาค่อนข้างต่ำมาก และมี Down Time ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
นายยรรยง กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปีงบประมาณ 2565 ของเอปสัน ประเทศไทย ว่า “ในปีนี้ ตลาดไอทียังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวค่อนข้างมาก ทั้งสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก และโรงงานชิปเซมิคอนดักเตอร์ไม่สามารถผลิตป้อนได้ทันตามการเติบโตของดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้น บวกกับภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งยังเกิดสงครามที่ยูเครน ซึ่งกระทบกระเทือนเศรษฐกิจไทย ทำให้ค่าน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจีดีพีของประเทศอาจจะมีการปรับลดลง ปัจจัยเหล่านี้รบกวนระบบซัพพลายเชนทั่วโลก ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าหลายรายการชะลอตัว ต้นทุนจากการผลิตและขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะปรับลดการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ ท่ามกลางภาวะการณ์เช่นนี้ เอปสันต้องยืดหยุ่นและรวดเร็วในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น พร้อมกับวางกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด”
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดยังยืดเยื้อออกไปเป็นปีที่ 3 และอาจนานขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ยังต้องปรับตัวต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายและรักษาระดับการเติบโต โดยเอปสันได้กำหนดแผนกลยุทธ์สำหรับปี 2565 นี้ขึ้น โดยผสานจุดแข็งทุกด้าน ขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าฝ่ายุคโควิด สร้างการเติบโตมากกว่า 10% โดยจุดแข็งดังกล่าวที่รวมกันเป็นส่วนผสมของความสำเร็จ หรือ 5Ss ประกอบด้วย Smart technology, Simple start, S-curve trend, Service excellence และ Sustainable value”
ในด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) เอปสันมุ่งที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือ TCO (Total Cost of Ownership) ให้กับลูกค้าได้มากกว่าเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ เช่น เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ใช้เทคโนโลยี Heat-Free ซึ่งสามารถประหยัดค่าไฟได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์รุ่นใกล้เคียงกันถึง 85% โดยให้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทั้งยังช่วยลดค่าซ่อมบำรุง เพราะใช้ชิ้นส่วนอะไหล่น้อยกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ หรือ Epson Monna Lisa เครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัลแบบ direct-to-fabric ที่สามารถรองรับการใช้สีได้มากกว่า 3 ล้านล้านสี และยังลดการใช้น้ำในกระบวนการพิมพ์ลายผ้าได้มากถึง 90% ต่อตารางเมตรเมื่อเทียบกับระบบการพิมพ์แบบดั้งเดิม หรือจะเป็นเลเซอร์โปรเจคเตอร์ระบบ 3LCD ที่ใช้งานได้นานถึง 20,000 ชั่วโมง โดยไม่ต้องบำรุงรักษา ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าโปรเจคเตอร์ที่ใช้หลอดภาพ เป็นต้น ซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกกลุ่มมากกว่า 20 รุ่นตลอดทั้งปี
เอปสันพยายามสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเริ่มลงทุนกับเอปสันได้ง่ายๆ (Simple Start) โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกโมเดลเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ ‘Epson EasyCare 360 เหมา เหมา’ ช่วยให้การพิมพ์งานของลูกค้าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องกังวลกับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สีหรือขาวดำ รวมถึงค่าบำรุงรักษาและค่าหมึก เพราะเพียงเหมาจ่ายราคาเดียว พิมพ์ได้มากสุด 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน ทั้งยังได้ on-site service และรับเครื่องที่ใช้อยู่ไปฟรีๆ หลังหมดสัญญา ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยบริษัทฯ เตรียมที่จะออกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริการให้เช่าเครื่องโปรเจคเตอร์ ซึ่งเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการบริการดูแลและบำรุงรักษา แต่ไม่ต้องการเก็บเครื่องเป็นทรัพย์สินของบริษัท และไม่ต้องการจ้างพนักงานประจำสำหรับดูแลซ่อมเครื่อง
เอปสันกำลังก้าวเข้าสู่ S-curve Trend ใหม่ เพื่อสานต่อการเติบโตทางธุรกิจ เพราะเอปสันเป็นผู้ออกแบบ พัฒนา และผลิตเทคโนโลยีของตัวเอง จึงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ก้าวนำความต้องการของตลาดได้อยู่เสมอ และมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เมื่อกระแสตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลง เอปสันก็พร้อมจะมีผลิตภัณฑ์ออกมารองรับความต้องการที่เกิดใหม่ทันที โดยผลิตภัณฑ์สำหรับเทรนด์ใหม่นี้จะเน้นที่นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางตลาดในปัจจุบัน ล่าสุด เอปสันได้เปิดตัว PaperLab เครื่องรีไซเคิลกระดาษแบบแห้งเครื่องแรกของโลกในภูมิภาคนี้ ด้วยเทคโนโลยี Dry Fiber ของเอปสันเอง สามารถผลิตกระดาษขึ้นมาใหม่จากกระดาษที่ใช้แล้วในสำนักงาน โดยไม่ใช้น้ำในกระบวนการผลิต ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอปสันมีแผนที่จะนำเครื่องดังกล่าวเข้ามาทำตลาดในไทยเร็วๆ นี้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังจะเปิดตัวหุ่นยนต์แขนกลเพิ่มขึ้น เช่น รุ่น T-B Series Scara Robot ที่เปิดตัวในงาน Metalex March 2022 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับความต้องการของโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจาก 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการผลิต
เอปสันยังคงเดินหน้าพัฒนาด้านความเป็นเลิศในการบริการ (Service Excellence) เริ่มตั้งแต่การลงทุนขยายศูนย์บริการเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมี 184 สาขาทั่วประเทศ และมีถึง 164 สาขาที่สามารถให้บริการ on-site service ถึงสำนักงานของลูกค้าทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะเพิ่มจำนวนสาขาที่สามารถให้บริการ on-site service ได้มากขึ้น และให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งยังจะมีการเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการซ่อมสินค้า การพัฒนาระบบจัดการและจัดส่งชิ้นส่วนอะไหล่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การจัดตารางนัดเพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องรอคิวนาน รวมถึงยังมีทีมงานพิเศษ เพื่อมอนิเตอร์การทำงานของเครื่องหรือมีเครื่องสำรองให้ใช้งานแทนในกรณีที่เครื่องของลูกค้าเกิดปัญหา ไปจนถึง Epson Call Center ซึ่งจะขยายเวลาการให้บริการตั้งแต่ 08:30 – 18:00 น. วันจันทร์ถึงเสาร์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เพิ่มช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดต่อกับทีมงานและติดตามข่าวสารของเอปสัน โดยพิมพ์ EpsonThailand ทั้งใน Facebook, IG, Line, LinkIn และ YouTube ยิ่งกว่านั้น เอปสันยังสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสำหรับให้บริการลูกค้าผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์แขนกลโดยเฉพาะ และทีมบริการสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งจะมีบริการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์โซลูชั่นสิ่งทอของเอปสันที่ญี่ปุ่นและอิตาลี ในส่วนของพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ บริษัทฯ ยังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาคุณภาพในการบริการได้ดียิ่งขึ้น และในอนาคต จะเน้นการให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
สุดท้าย ในด้านความยั่งยืน (Sustainable Value) ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจโดยยึดกรอบปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีด้วยกัน 17 เป้าหมาย โดยในปี 2565 นี้ บริษัทฯ ได้เน้นที่ 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคุณค่าในด้านความยั่งยืนเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่สาธารณะผ่านตัวผลิตภัณฑ์ กิจกรรมกับตัวแทนจำหน่าย กิจกรรมส่งเสริมการขาย และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำการทำงานเพื่อเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในภูมิภาคนี้ เอปสันยังได้จับมือกับ ‘องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล’ หรือ WWF ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนตามชายฝั่งทะเล เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการทำงานร่วมกับเยาวชน นักวิทยาศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและชุมชนท้องถิ่น
“โลกธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันหยุด เอปสันต้องคอยดิสรัปท์ตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการ โมเดลธุรกิจ แนวทางในการทำธุรกิจ ไปจนถึงจุดยืนของแบรนด์ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีอยู่เหนือกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า ที่สำคัญ เป้าหมายของเอปสันไม่ใช่แค่การสร้างหรือรักษาระดับการเติบโตของยอดขายและรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในองค์กรของลูกค้าและสังคมผ่านเทคโนโลยีและโครงการด้านความยั่งยืนของเอปสัน” นายยรรยง กล่าวทิ้งท้าย