ทุกๆ ปี We are social ซึ่งเป็นเอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย จะทำรายงานประจำเกี่ยวกับสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัล พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชันต่างๆ ตลอดจนการใช้อีคอมเมิร์ช การชำระเงินออนไลน์และการโฆษณาดิจิทัล ล่าสุดทางบริษัทได้ร่วมกับ Meltwater ออกรายงาน “Digital 2023 Global Overview Report” มาเมื่อปลายเดือนมกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเป็นสไลด์กว่า 400 หน้า
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่าสุดมีจำนวน 5,158 ล้านคน คิดเป็น 64.4% ของประชากรทั้งโลก โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตถึงคนละ 6 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน ซึ่งพบว่าน้อยกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน โดยประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 61.21 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 85.3% ติดอันดับที่ 34 ของโลก แต่เราใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูง ถึง 8 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวันติดอันดับที่ 9 ของโลก แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ปีนั้นมีการใช้กันมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะมาจากมือถือที่คิดเป็น 92.3% เมื่อเทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ 65.6% ซึ่งลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 71.2% แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่น่าสนใจอย่างมากก็คือคนไทยติดอันดับที่ 4 ของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 05 นาทีต่อวัน แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่อันดับ 2 ของโลกใช้เวลาเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยที่ฟิลิปปินส์ยังครองเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์คยไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 01 นาทีต่อวัน
ส่วนในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตตามบ้านพบว่าอันดับโลกของประเทศไทยลดลงจากที่เคยติดอันดับสองลงมาอยู่ที่อันดับที่สี่ โดยมีความเร็ว 205.63 Mbps ส่วนสามอันดับแรกคือ ชิลี จีน และสิงคโปร์ ส่วนความเร็วของอินเทอร์เน็ตทางมือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 37.85 Mbps ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 33.97 Mbps ไม่มากนัก
ในรายงานระบุว่าผู้คนทั่วโลกเข้าเว็บไซต์หรือเล่นแอปต่างๆเพื่อที่ พูดคุยหรือส่งข้อความหาเพื่อนสูงถึง 94.8% ตามมาด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย 94.6% และการค้นหาข้อมูล 81.8% อันดับที่สี่คือการดูและสินค้าออนไลน์ 76% การค้นหาสถานที่หรือดูแผนที่ 55% การใช้อีเมล 48.9% การฟังเพลง 46.3% ตืดตามข่าวสาร 41.4% การเล่นเกมส์ 34.3% และเพื่อการศึกษาเพียง 23.8%
รายงาน Digital 2023 แม้มีข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต สถิติเว็บไซต์ยอดนิยม การเข้าชม NetFlix หรือการฟังเพลงจาก Spotify ตลอดจนการค้นหาข้อมูลต่างๆ แต่ก็ยังเป็นภาพรวมทั่วโลก ยังไม่ได้แยกให้เห็นสถิติเป็นรายประเทศซึ่งโดยมากทาง We are social จะออกรายงานของแต่ละประเทศตามหลังมากอีก แต่เท่าที่เห็นสถิติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มาจากการสอบถามข้อมูลผู้ช่วงอายุระหว่าง 16 -64 ปีทั่วโลก ของ GWI.com มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายเรื่อง อาทิเช่น คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการเล่นวิดีโอเกมส์จากทุกอุปกรณ์ โดยมีจำนวน 94% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยอันดับหนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ ตามด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะทีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 81.9% ทั้งนี้ปีก่อนไทยอยู่อันดับสองของโลก
คนไทยใช้ QR Code ติดอันดับห้าของโลกจากการสแกนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีอัตราผู้ใช้ต่อเดือนสูงถึง 54.1% ทั้งนี้สามอันดับแรกคือ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ขณะทีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44.6%
คนไทยติดอันดับสี่ของโลกในการถือของเงินสกุลคริปโทฯมีจำนวน 21.9% แต่ก็ตกลงมาจากปีก่อนซึ่งเราเคยอยู่ในอันดับที่หนึ่ง (จำนวน 20.1%) โดยสามอันดับแรกคือ ตุรเคีย อาร์เจนติน่า และฟิลิปปินส์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 11.9% แต่ทั้งนี้เราจะมีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯต่อคนเพียง 73.81 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 135 ดอลลาร์ ขณะที่ประเทศที่จะมีการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทฯติดอันดับต้นๆคือ สวิสเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ ที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 750 ดอลลาร์
คนไทยยังคงติดอันดับหนึ่งของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกันในการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์โดยมีจำนวน 66.8% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ตุรเคีย เม็กซิโก และชิลี ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 57.6% แต่เมื่อดูมูลค่าเฉลี่ยในการซื้อสินค้าทางอีคอมเมิรซ์แล้วประเทศมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยมีมูลค่าเพียง 491 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ย 873 ดอลลาร์
คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลกคู่กับเกาหลีใต้ในการซื้อสินค้าสดหรือของชำออนไลน์เช่นการสั่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยมีจำนวน 45.2 % ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศอย่าง ตุรเคีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 28.3%
คนไทยติดอันดับห้าของโลกในการชำระเงินผ่านมือถือ โดยมีจำนวน 33.5% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยมีไต้หวัน ฮ่องกง เดนมาร์ก และ ซาอุดิอาระเบียที่มีอันดับดีกว่าขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25%
นอกจากนี้รายงานยังระบุว่าคนไทยมีการใช้ออนไลน์วิดีโอเพื่อการศึกษา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยอยู่ที่ 32.7%% ติดอันดับที่ 39 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43.4% ขณะที่ประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และ อินโดนีเซีย ติดสี่อันดับแรกของโลก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเขายังเน้นไปในด้านการศึกษา
คนไทยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยอยู่ที่ 27.3% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 32.9% สะท้อนให้เห็นว่าเรายังตระหนักในเรื่องของความข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างต่ำ
จากข้อมูลในรายงานได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และมีจำนวนผู้ใช้อืนเตอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าคนไทยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตและอยู่กับมือถือมากเกินไป สูงกว่าหลายประเทศในโลก และเน้นไปที่ความบันเทิง การเล่นเกมส์ มากกว่าการค้นข้อมูลด้านการศึกษา แต่ก็น่าสนใจที่ว่าคนไทยหันมาให้ความสำคัญการด้านการเงินมากขึ้น ทั้งด้านการชำระเงินและการถือครองคริปโทฯ
อย่างไรก็ตาม เราควรต้องหาแนวทางที่ให้คนของเราใช้เวลากับโลกออนไลน์ให้น้อยลง และเน้นใช้เพื่อการทำงานมากกว่านี้ จึงจะมั่นใจได้ว่า เราใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม และนำไปใช้ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้
ในการนี้สถาบันไอเอ็มซีและบริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้สังเคราะห์องค์ความรู้ดังกล่าวออกมาเป็น “Digital Trends 2023 Lesson Learned from the use of Emerging Technologies” งานสัมมนาที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญรอบด้าน เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปได้
“Digital Trends 2023 Lesson Learned from the use of Emerging Technologies” จะนำเสนอแนวทางในการจัดทำโครงการไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนให้แนวคิดในการเลือกและตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนวิธีการสร้างมุมมอง สร้างวัฒนธรรมองค์กร และทักษะที่จำเป็นต่อบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้องค์ประกอบด้านเทคโนโลยี องค์กร และบุคลากร มีความพร้อมที่สอดคล้องกันอย่างกลมกลืน
โดยในงานสัมมนาดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ จะช่วยเปิดมิติการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตโดยองค์กรไม่ต้องมีประสบการณ์ความล้มเหลวจริง แต่จะเรียนและรู้จากเนื้อหาในงานที่ได้สังเคราะห์มาให้แล้ว
_____