หน้าแรก Vendors เคยสงสัยไหม ซีพียูต่างจากชิปของการ์ดจอ (GPU) อย่างไร?

เคยสงสัยไหม ซีพียูต่างจากชิปของการ์ดจอ (GPU) อย่างไร?

แบ่งปัน

ในเมื่อทั้งสองอย่างก็เป็นหน่วยประมวลผลเหมือนกัน ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ตัวเล็กจิ๋วหลายล้านตัวเหมือนกัน สามารถประมวลผลชุดคำสั่งได้หลายพันคำสั่งต่อวินาที ต่างกันแค่ซีพียูนั้น ตัว C มาจากศูนย์กลางหรือเปรียบดังหัวใจการประมวลผลของอุปกรณ์ ขณะที่ G มาจากกราฟิก หรือน่าจะหมายถึงอุปกรณ์ประมวลผลที่อุทิศให้แก่งานด้านกราฟิกโดยเฉพาะ

หรือเราอาจจะมองง่ายๆ ว่าถ้าซื้อคอมพ์ที่ไม่มีการ์ดจอหรือจีพียู ตัวซีพียูหลักก็ต้องประมวลผลทั้งโปรแกรมทั่วไปและงานที่เกี่ยวกับกราฟิกด้วย จนอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานโปรแกรมหรือเกมที่ต้องรันกราฟิกหนักๆ เช่น โฟโต้ช็อป หรือเกมสามมิติความละเอียดสูงได้อย่างเต็มที่ เพราะกำลังการประมวลผลไม่พอ (เผลอๆ ซีพียูร้อนจัดเกินจนเครื่องดับก็อาจเป็นได้ถ้าเราฝืนใช้งาน) ในเมื่องานด้านกราฟิกค่อนข้างใช้ทรัพยากรประมวลผลมากกว่างานด้านอื่น จึงเป็นที่มาของการแยกส่วนการประมวลผลเป็นการ์ดจอที่มีชิปที่เรียกว่า GPU แยกต่างหาก ที่ต่อสายเข้าส่งสัญญาณภาพขึ้นจอโดยตรง เป็นต้น

คำว่า Central ของซีพียูนั้นเปรียบดังสมองหลักของอุปกรณ์ไอทีนั้นๆ (ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่สวิตช์ ไฟร์วอลล์ เราท์เตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ต่างมีชิ้นส่วนพื้นฐานอย่างซีพียูและแรมด้วยกันทั้งนั้น) คอยคำนวณทุกอย่างที่มีการร้องขอจากชิ้นส่วนอื่นๆ จากประวัติแล้ว อินเทลเป็นบริษัทแรกที่ผลิตซีพียูในชื่อชิปรุ่น 4004 มีกำลังการประมวลผลทีละ 4 บิต จากนั้นจึงเริ่มพัฒนามาใช้สถาปัตยกรรมแบบ x86 มาจนถึง ARM แบบ 32 บิต

หลายครั้งที่คนเรียกซีพียูสับกันกับชิป ซึ่งก็หมายถึงชิ้นส่วนที่มีทรานซิสเตอร์จำนวนมากสำหรับประมวลผลเช่นกัน ซีพียูมาตรฐานปัจจุบันมีคอร์ตั้งแต่ 1 – 4 คอร์สำหรับประมวลผลหลายคำสั่งพร้อมกัน ให้ความเร็วสัญญาณนาฬิกาตั้งแต่ 1 – 5 GHz อย่างซีพียู 2.4GHz หมายความว่าสามารถประมวลผลได้ถึง 2.4 พันล้านคำสั่งต่อวินาที

ขณะที่ GPU เรียกได้ว่าเป็นซีพียูที่ออกแบบมาสำหรับอุทิศให้ประมวลผลสิ่งที่แสดงผลทางหน้าจอโดยเฉพาะ เช่น การเรนเดอร์กราฟิกความละเอียดสูง หรือรัน VR มักมีคอร์ย่อยหลายพันคอร์เพื่อคำนวณหลายพันพิกเซลสำหรับส่งสัญญาณไปยังหน้าจอได้แบบเรียลไทม์ บริษัทแรกที่พัฒนาขึ้นคือ NVIDIA ในชื่อชิป GeForce 256ซึ่งมาพร้อมการ์ดจอที่เป็นตัวควบคุมสัญญาณ VGA สำหรับเรนเดอร์ภาพขึ้นหน้าจอโดยเฉพาะ

การมีจีพียูแยกจากซีพียูนั้น ช่วยแบ่งเบาภาระการประมวลผลกราฟิกที่ปกติเป็นตัวถ่วงซีพียูอย่างมากได้เป็นอย่างดี แม้ที่ผ่านมาจะมีทั้งจีพียูแบบที่ฝังในตัวเดียวกันกับซีพียู และจีพียูที่แยกอีกสล็อตบนเมนบอร์ดหรืออยู่บนการ์ดจอแยก แต่จีพียูแบบแรกมักใช้เรนเดอร์ภาพสองมิติมากกว่า และผู้ที่ใช้งานสามมิติมักเหมาะกับการ์ดจอแยก

ที่มา : Technotification