ในฐานะนักพัฒนาแอพบนเดสก์ท็อปนั้น การตัดสินใจเลือกเฟรมเวิร์กที่จะใช้เขียนแอพถือเป็นเรื่องยากพอสมควร เนื่องจากแต่ละเฟรมเวิร์กที่จะใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินหลัก ที่ต้องลงทุนกับเวลาและการเรียนรู้จากนี้เป็นต้นไปนั้นแต่ละตัวล้วนมีข้อดีข้อเสีย และความเหมาะสมกับตัวนักพัฒนาแตกต่างกันไป
เฟรมเวิร์กส่วนใหญ่นั้นถูกนำมาใช้สำหรับพัฒนาแอพบนเดสก์ท็อปหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอพทางธุรกิจแบบสแตนอโลน, แอพที่ใช้การเชื่อมต่อแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์, แอพเพื่อการประสานงานและสื่อสารภายในทีม (Collaborative), ยูทิลิตี้และปลั๊กอินต่างๆ, แอพด้านมัลติมีเดีย, และแอพเกี่ยวกับการทำงานบนเครือข่าย เป็นต้นซึ่งทาง TechNotification.com ได้รวบรวมเฟรมเวิร์กที่ได้การยอมรับว่าดีที่สุด 5 ตัวเอาไว้ดังนี้
1. WPF
เป็นเฟรมเวิร์กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับพัฒนาแอพบนวินโดวส์ จัดเป็นเฟรมเวิร์กที่อยู่ภายใน .NET Framework อีกทีหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้พัฒนาด้านกราฟิกสำหรับแอพบนเดสก์ท็อป โดยเฉพาะพวกเวกเตอร์, มีเดียที่เรนเดอร์มาแล้ว, หรือแม้แต่การเรนเดอร์แบบสองมิติและสามมิติซึ่งตัวรันไทม์ไลบรารีก็มักมีฝังมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์อยู่แล้วด้วย
2. Universal Windows Platform (UWP)
ถือเป็นเฟรมเวิร์กที่ได้รับความนิยมมากในฐานะแพลตฟอร์ม .NET ที่นักพัฒนาสามารถนำไปใช้สร้างแอพที่รันข้ามแพลตฟอร์มได้ หรือแม้แต่การรันบนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ที่แตกต่างกัน หรือการรันบนอุปกรณ์หลายตัวพร้อมกัน เรียกว่าสามารถพัฒนาแอพให้รันได้ทั้งบนเดสก์ท็อปและอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต หรือแม้แต่ Xbox
3. Cocoa
เป็นเฟรมเวิร์กสำหรับพัฒนาแอพบน MacOS โดยเฉพาะ ทำงานแบบ Object-Oriented ที่เน้นสร้างอินเทอร์เฟซให้ดูตื่นตาตื่นใจมากขึ้นสำหรับทั้งบน MacOS, iOS, และ tvOS ไม่ว่าจะเป็นการใส่แอนิเมชั่น, กราฟิก, การจดจำการควบคุมผ่านนิ้วมือ เป็นต้น
4. Electron Js
เป็นเฟรมเวิร์กแบบข้ามแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดย GitHub ทำงานบน Node.jsซึ่งมีบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งใช้แพลตฟอร์มนี้ในการพัฒนาแอพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Microsoft, และStack
5. Swing
เป็นเฟรมเวิร์กทำงานบนจาวา จึงสามารถสร้างแอพที่รันได้บนเกือบทุกแพลตฟอร์ม โดยเน้นการพัฒนา GUI ให้ดูดี มาพร้อมกับ UI ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นปุ่มแบบต่างๆ, แผงควบคุม, หน้าต่างแสดงตารางแบบเลื่อนได้, และเช็กบ็อกซ์ เป็นต้น
บทสรุป
จะเห็นได้ว่าเฟรมเวิร์กแต่ละตัวนั้นถูกออกแบบมาสำหรับสร้างแอพบนโอเอสที่แตกต่างกัน เช่น เน้นพัฒนาแอพสำหรับวินโดวส์, MacOS, หรือสามารถรันข้ามแพลตฟอร์มกันได้ ซึ่งทำให้ธรรมชาติของแอพบนเดสก์ท็อปที่คุณต้องการจะพัฒนากลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกเฟรมเวิร์กที่เหมาะสมด้วย
ที่มา : Technotification