หน้าแรก Data Center เดลล์ เผยผลสำรวจ! ระบุ 31% ขององค์กรไทย กำลังสร้างนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

เดลล์ เผยผลสำรวจ! ระบุ 31% ขององค์กรไทย กำลังสร้างนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

แบ่งปัน

เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยผลการสำรวจ ดัชนีชี้วัดนวัตกรรม (Innovation Index) ระบุ 66% ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 60% และทั่วโลก 57%) เกรงว่าองค์กรของตัวเองอาจตกกระแสได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมและแผนงานนวัตกรรมในกระบวนการทำงาน

การทำวิจัยเพื่อสำรวจความคิดเห็นทั่วโลกครั้งใหม่นี้ เป็นการทำโพลล์ด้วยการพูดคุยกับพนักงานองค์กรจำนวน 6,600 คนในกว่า 45 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้สามารถเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดนวัตกรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ และองค์กรธุรกิจเองควรเตรียมความพร้อมของคนทำงาน กระบวนการในการทำงาน และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรได้บ้าง ขณะเดียวกัน รายงานในส่วนของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดจากการทำโพลล์จากการพูดคุยกับพนักงาน 1,700 คนทั้งในประเทศไทย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

“เทคโนโลยียังคงเป็นแกนหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร ในการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถทรานส์ฟอร์มและเติบโต การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดได้สร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจต่างๆ และในขณะที่ผลการศึกษาของดัชนีชี้วัดด้านนวัตกรรม หรือ Innovation Index เผยให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจของไทยจัดอยู่ในระดับแนวหน้าในกลุ่มของผู้นำนวัตกรรม (Innovation Leader) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาค  องค์กรส่วนใหญ่ยังคงต้องตัดสินใจว่าในจุดไหนที่ต้องการไปให้ถึงในอนาคตอันใกล้นี้” ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าว “ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจสามารถดำเนินการในรูปแบบนี้ได้ด้วยการปรับเป้าหมายต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่ให้สอดคล้องกัน พร้อมทั้งบ่มเพาะวัฒนธรรมของการความอยากรู้และอยากลองด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ผู้คน และกระบวนการรูปแบบต่างๆ”

นวัตกรรมคือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ

ด้วยการประเมินองค์กร ผู้ตอบแบบสอบถามจะถูกประเมินหรือตรวจสอบโดยการเปรียบเทียบกับมาตรฐาน (Benchmark) เพื่อดูเกณฑ์มาตรฐานความพร้อมด้านนวัตกรรม ตั้งแต่ผู้นำด้านนวัตกรรมไปจนถึงผู้ที่ยังคงล้าหลังด้านนวัตกรรม จากการวิเคราะห์ องค์กรต่างๆ เพียง 31% ในประเทศไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 17% และทั่วโลก 18%) เท่านั้นที่สามารถกำหนดให้เป็นผู้นำทางนวัตกรรม (Innovation Leaders) และผู้ที่นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งาน (Innovation Adopters) องค์กรในกลุ่มนี้มีกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมแบบครบวงจร (End-to-End) และวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาที่มาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ปัญหาซัพพลายเชน ไปจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่ยังคงเติบโตต่อไป

ในความเป็นจริง 52% ของผู้นำทางนวัตกรรม (Innovation Leaders) และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งาน (Innovation Adopters) ของประเทศไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% และทั่วโลก 50%) มั่นใจว่าตัวเองสามารถเร่งสร้างนวัตกรรมได้ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่ง “ความยืดหยุ่นของนวัตกรรม” หรือที่เรียกว่า “innovation resilience” นี้ (เช่น ความมุ่งมั่นและความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก) ส่งผลดีให้กับผู้นำทางนวัตกรรม โดย 32% ของผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานของประเทศไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 33% และทั่วโลก 32%) ได้รับประสบการณ์ที่ระดับของรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 15% ในปี 2022

นอกจากนี้ ยังพบความท้าทายที่ลดลงในการรักษาบุคลากรที่มีทักษะด้านไอทีที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม ปัจจัยสนับสนุนอีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะ 65% ของผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานของไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 73% และทั่วโลก 75%) ได้ตอบรับการใช้งานระบบอัตโนมัติอย่างเต็มที่เพื่อสู้กับกระบวนการไอทีทั้งแบบแมนนวลและทั้งใช้เวลายาวนาน เพื่อเร่งการพัฒนานวัตกรรมให้เร็วยิ่งขึ้น