หน้าแรก Applications เส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล : บทความโดย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ 

เส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล : บทความโดย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ 

แบ่งปัน

เคยมีบทความเมื่อหลายปีก่อนในนิตยสาร Harvard Business Review ที่ระบุว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลคือตำแหน่งงานที่มีเสนห์ที่สุดในศตวรรษที่ 21 (Data Scientist: The Sexiest Job of the 21st Century) และจากข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานจากแหล่งต่างๆได้ชี้ให้เห็นว่างานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นที่ต้องการอยู่ในอันดับต้นๆของโลกและมีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่ก็หาบุคลากรที่มีทักษะทางนี้ได้ยาก

ข้อมูลได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่ามากในปัจจุบันขององค์กรต่างๆ เลยมีความต้องการที่จะหาบุคลากรมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับด้านการจัดการข้อมูลต่างๆมีความสำคัญมากขึ้นซึ่งนอกเหนือจากงานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ยังมีตำแหน่งงานอย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data analyst) วิศวกรข้อมูล (Data engineer) ที่มาทำหน้าที่ในการพัฒนาโปรแกรมและระบบไอทีในการจัดการข้อมูลอีกด้วย

ล่าสุดบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ได้จัดทำรายงาน คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี 2564 ที่ได้รวบรวมอัตราเงินเดือนพนักงานออฟฟิศจากฐานข้อมูลการจ้างงานผ่านบริษัทในปีที่ผ่านมา และพบว่ากลุ่มอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้ ได้แก่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และ วิศวกรข้อมูล ที่มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 – 50,000 บาท จึงไม่แปลกใจที่เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากสนใจในการที่จะมาทำงานในอาชีพนี้ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลในระดับปริญญาตรีกันมากขึ้น

งานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นเรื่องใหม่ หลายคนหรือหลายองค์กรอาจสับสนกับบทบาทหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะงานด้านการจัดการข้อมูลมีอยู่หลายๆเรื่อง ตั้งแต่การบริหารจัดการข้อมูล การนำข้อมูลมาแสดงผล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการพยากรณ์ข้อมูล งานบางด้านใช้ทักษะทางด้านไอทีตั้งแต่การจัดการระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ งานบางด้านต้องมีทักษะในการเขียนโปรแกรม งานบางด้านต้องมีทักษะในการสร้าง Dashboard แสดงผลข้อมูลออกมาให้สวยงามและเข้าใจง่าย งานบางด้านต้องมีความรู้ทางด้านสถิติและคณิตศาสตร์อย่างดี และงานบางด้านต้องมีความรู้เชิงธุรกิจ ดังนั้นจึงมีการแบ่งอาชีพทางด้านการจัดการข้อมูลออกมาเป็นหลายอาชีพ และงานหลายอย่างก็อาจไม่ต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาเป็นคนทำด้วยซ้ำไป

หลายๆคนสนใจจะทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลแต่ก็เริ่มต้นที่ไปเรียนเครื่องมือในด้านไอที สนใจในเรื่อง Big data แล้วไปเรียนรู้เทคโนโลยต่างๆเช่น Hadoop หรือบางครั้งก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาโปรแกรมภาษาต่างๆเช่น R, Python รวมถึงการใช้เครื่องมือในการสร้าง Dashboard ต่างๆ สุดท้ายเมื่อเข้ามาทำงานในด้านนี้ก็อาจกลายเป็นว่าไปทำงานเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านอื่นๆเสียมากกว่าเช่น เป็นวิศวกรข้อมูลที่ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมในการจัดการข้อมูล หรือเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในการแสดง Dashboard

แต่ถ้ากล่าวถึงทักษะของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ดีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเก่งทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องมีความเข้าใจด้านสถิติอย่างลึกซึ้งและอาจมีความสำคัญมากกว่าการใช้เครื่องมือหรือการพัฒนาโปรแกรมเสียอีก ดังนั้นผู้ที่สนใจจะทำงานสาขานี้จำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาทางคณิตศาสตร์หลายวิชา เพราะทฤษฎีการทำวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีพื้นฐานมาจากวิชาทางคณิตศาสตร์

สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่ใช่เริ่มต้นเพียงแค่การใช้เครื่องมือหรือพัฒนาโปรแกรม บางครั้งอาชีพนี้อาจไม่ได้เริ่มต้นที่การเป็นนักไอทีด้วยซ้ำไปและอาจแฝงได้อยู่ในทุกสาขาวิชาชีพที่สนใจทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติ คนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ดีได้นั้น ต้องรู้จักตั้งคำถามไปในทุกเรื่อง ต้องสนใจที่จะเล่นกับข้อมูล ซึ่งคำถามอาจมีตั้งแต่ “เราจะพยากรณ์ได้ไหมว่าจำนวนยอดคนติดโควิดในประเทศไทยในรอบใหม่มีสูงสุดเท่าไหร่” ไปจนถึง “ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในฤดูกาลที่ผ่านมายิงเฉลี่ยนัดละกี่ประตู”

ผมยังจำได้ว่าสมัยผมเด็กๆตั้งแต่อยู่ชั้นประถมต้นผมชอบเล่นกับข้อมูล บางวันไปนั่งจดทะเบียนรถและนับจำนวนรถที่หน้าบ้านที่ผ่านมาในแต่ละวัน ชอบดูสถิติและตารางผลกีฬาและเอามาเปรียบเทียบ และเมื่อเรียนสูงขึ้นก็ชอบวิชาทางด้านสถิติ ทักษะเหล่านี้จำเป็นสำหรับคนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะหากเราไม่รู้จักการตั้งคำถามไม่รู้จักการสังเกตข้อมูลต่างๆแล้วก็ยากที่จะทราบได้ว่าเราควรจะนำข้อมูลมาใช้ในเรื่องใด หรือควรพยากรณ์เรื่องใดบ้าง

อีกทักษะที่จำเป็นของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลคือความเข้าใจในธุรกิจด้านนั้นๆเช่น หากต้องทำทางด้านเงินก็อาจต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทางด้านการแพทย์ควรมีความรู้พื้นด้านการสาธารณสุข ซึ่งจะเห็นว่าการจะมีความรู้เหล่านั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมาหลายปี หรือต้องจบการศึกษาทางด้านอื่นมาด้วย

ดังนั้นแม้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเป็นอาชีพน่าสนใจแต่เส้นทางการก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่เป็นการเรียนรู้การใช้เครื่องมือหรือเขียนโปรแกรม จำเป็นต้องมีทักษะในหลายๆด้านและต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานมาพอควร แต่ทุกคนก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองเข้าสู่สายงานอาชีพนี้ได้ แม้แต่คนที่ทำงานในอาชีพอื่นเพราะคนเหล่านั้นมีความรู้ความเข้าใจธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ตัวเองถนัด หากได้มาเรียนรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพิ่มเติม ก็อาจะจะสามารถเพิ่มทักษะตัวเองลงมือทำโครงการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้

ใช่ครับทุกคนสามารถจะพัฒนาทักษะตัวเองให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้ แต่ต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดี และรู้จักที่จะตั้งคำถามจากตัวเลขที่เห็น

ในส่วนของสถาบันไอเอ็มซีจะมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ Big data และวิทยาศาสตร์ข้อมูลอยู่ในหลายวิชา ทั้งในส่วนที่จะพัฒนาคนเป็น วิศวกรข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงหลักสูตรระยะยาว Big data and data science certification ที่จะเปิดในเดือนมีนาคม ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.imcinstitute.com

ผู้แต่ง : ดรธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน ไอเอ็มซี