เป็นคำพูดที่ล้อกันว่า เชื้อโควิดนี่ติดบนคอมพิวเตอร์ได้ไหม แน่นอนทางกายภาพ ทางชีววิทยาย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่ที่พูดแบบนี้ก็เพราะเราได้เห็นผลกระทบในวงกว้างที่ส่งผลต่อวงการด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นการที่หลายองค์กรเริ่มลังเลในการลงทุนกับระบบทางไซเบอร์ใหม่ๆ หรือวางยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลท่ามกลางสิ่งที่คาดเดาไม่ได้แบบนี้ รวมทั้งยังทำให้เกิดการทำงานจากระยะไกล (และการพัฒนาเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ส่งผลต่อการรักษาความปลอดภัยที่เคยมองเป็นรูปแบบของเขตแดน อาณาเขตภายในภายนอกองค์กรแบบเดิม (ที่ก่อนหน้าโควิดก็เริ่มตั้งคำถามกับวิธีคิดแบบนี้กันบ้างแล้วจากการเริ่มหันมาใช้งานคลาวด์) ทลายลงแทบไม่มีชิ้นดี จนตอนนี้ทุกที่กลายเป็นสำนักงานได้หมด ทำให้ข้อมูลต้องกระจายอยู่ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย
ทำให้ตอนระบาดใหม่ๆ นั้น หลายคนมองว่าโรคระบาดจะทำให้แฮ็กเกอร์ระบาดหนักตามไปด้วย หนักชนิดที่เป็นหายนะแบบล้มล้างโลกของดิจิทัลได้เลยทีเดียว แต่ล่าสุดตัวเลขจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับค่อนข้างตาลปัตร
โดยดูจากจำนวนครั้งการปล่อยมัลแวร์โจมตีเทียบกับความรุนแรงของโควิดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเรามองที่จำนวนของตัวปล่อยมัลแวร์ในเครื่องเหยื่อหรือ Dropper ว่าเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณกิจกรรมการโจมตีได้ดีในฐานะตัวที่อยู่ในขั้นแรกๆ ของกระบวนการเจาะระบบ
ตัวเลขที่มาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่วัดอิงตามดัชนีความรุนแรงของโรคในเวลานั้นๆ จาก 9 ปัจจัย เช่น การปิดโรงเรียน ปิดสำนักงาน การห้ามการเดินทาง เป็นต้น วัดเป็นสเกลตั้งแต่ 1 ถึง 100 ยิ่งค่าใกล้ร้อยแสดงว่าหนักจริง
ผลที่ออกมากลายเป็นว่า ยิ่งช่วงที่ระบาดรุนแรง จำนวนกิจกรรมอันตรายทางไซเบอร์ที่เกิดกลับยิ่งน้อยลง ยิ่งล็อกดาวน์เข้มงวดมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่ค่อยพบการโจมตี สรุปได้ว่าแนวโน้มการโจมตีของมัลแวร์นั้นสัมพันธ์ตามความเข้มข้นของพฤติกรรมเหยื่อมากกว่า หรือคือโควิดไม่ได้ทำให้โดนโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – THN