ไม่ใช่เห็นเป็นหน้าตาคล้ายๆ DoS แล้วรู้สึกสำนึกรักบ้านเกิดมโนว่าอะไรที่เป็นคอมมานด์ไลน์จากตระกูลไมโครซอฟท์แล้วจะใช้งานได้เหมือนกันหมด สำหรับผู้ใช้วินโดวส์แล้วก็เหมือนโอเอสส่วนใหญ่ในตลาดที่สามารถเลือกได้ว่าอยากทำงานผ่านอินเทอร์เฟซกราฟิกแบบสวยงามหรือ GUI หรือจะใช้งานผ่านหน้าต่างที่ป้อนคำสั่งรายบรรทัดหรือ CLI
ซึ่งอินเทอร์เฟซแบบหลังนั้นยังเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่คร่ำหวอดทางเทคนิค เนื่องจากรองรับคำสั่งที่ยืดหยุ่น และงานเทคนิคขั้นสูงได้ ซึ่งวินโดวส์ปัจจุบันก็มีหน้าคอมมานด์ไลน์ให้เลือกสองแบบได้แก่ Command Prompt (หรือ cmd เวลาพิมพ์ผ่าน run) และ PowerShell แม้หน้าตาจะคล้ายกัน แต่ก็แตกต่างกันมากพอสมควร
โดย Command Prompt เป็นหน้าอินเทอร์เฟซแบบคอมมานด์ไลน์ที่รองรับคำสั่งจากการพิมพ์ป้อน ที่มีมาตั้งแต่ยุค Windows NT เป็นต้นมา ซึ่งสามารถใช้จัดการและสื่อสารกับอ๊อพเจ็กต์แบบ win32 ของวินโดวส์ได้ มีโครงสร้างระบบการทำงานที่เข้าใจง่าย ทำได้ทั้งงานพื้นฐานไปจนถึงงานขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการดึงข้อมูลต่างๆ, การแก้ปัญหาระบบ, หรือแม้แต่การสั่งรันแบชไฟล์
ส่วน PowerShell นั้น เป็น “Shell” หรืออินเทอร์เฟซสำหรับเข้าถึงเซอร์วิสต่างๆ บนระบบปฏิบัติการ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรันงานต่างๆ แบบอัตโนมัติ และใช้จัดการการตั้งค่าบนวินโดวส์ พัฒนาจาก .NET Framework ที่ประกอบด้วยภาษาสคริปต์ ที่หลายคนมองว่าเป็น Command Prompt ระดับสูงกว่า เนื่องจากสามารถเข้าถึงทุกโมดูลของวินโดวส์
สำหรับความแตกต่างระหว่าง Command Prompt กับ PowerShell นั้น ต้องพูดถึงลักษณะของ PowerShell 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่
• Cmdlet
หรือชุดคำสั่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวบนพาวเวอร์เชลล์ ซึ่งเราสามารถรันคำสั่งต่างๆ ได้ทั้งผ่านสคริปต์แบบอัตโนมัติ หรือพิมพ์ป้อนไปตรงๆ บนหน้าอินเทอร์เฟซรันไทม์ก็ได้ คำสั่งแบบ Cmdlet นี้สามารถเข้าถึงและจัดการรีจิสตรี้บนวินโดวส์ ซึ่งเป็นงานที่ไม่สามารถทำได้บน Command Prompt ปกติ อีกทั้งเอาต์พุตที่ออกมาจากคำสั่งเหล่านี้จะอยู่ในรูปชุดของอ๊อพเจ็กต์ ขณะที่เอาต์พุตของ Command Prompt จะอยู่ในรูปข้อความธรรมดา
• Pipe
เป็นการพิมพ์ชุดคำสั่งในบรรทัดเดียวกัน ที่ส่งเอาต์พุตจากคำสั่งแรกไปยังคำสั่งถัดๆ ไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวคล้ายกับบนลีนุกซ์ จึงเรียกส่งเอาต์พุตไปประมวลผลต่อเป็นทอดๆ แบบนี้ว่าเป็นท่อหรือ Piping ทำให้สามารถจัดลำดับชุดคำสั่งหรือจัดการประมวลผลข้อมูลได้กระชับในบรรทัดเดียว ออกแบบชุดคำสั่งที่ยืดหยุ่นของตนเองได้ง่ายๆ ขณะที่บน Command Prompt นั้น เนื่องจากเอาต์พุตมีลักษณะเป็นข้อความล้วน จึงไม่สามารถหยิบจับมาประมวลผลได้ต่อเนื่อง เรียกได้ว่า PowerShell สามารถจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้เหมือนภาษาโปรแกรมมิ่งทั่วไป ซึ่งเป็นงานที่ Command Prompt ทำไม่ได้
• สภาพแวดล้อมการทำงาน
ตัว PowerShell มีความพิเศษมากกว่า Shell อื่นทั่วไป โดยเป็นสภาพแวดล้อมที่รองรับการเขียนสคริปต์ซ้อนกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้ใช้เขียนสคริปต์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ง่ายๆ ซึ่งเราสามารถใช้สคริปต์เหล่านี้สำหรับจัดการระบบต่างๆ บนวินโดวส์ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่น ทำให้เหล่าแอดมินระบบทั้งหลายนิยมทำงานผ่าน PowerShell เพื่อเขียนสคริปต์ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ Command Prompt นั้นเป็นแค่สภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดให้รันคำสั่ง DoS เก่าพื้นฐานเท่านั้น จึงค่อนข้างมีความสามารถจำกัด และไม่สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ระดับแอดมินส่วนใหญ่บนระบบได้ เรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนสคริปต์ที่ซับซ้อนบน Command Prompt
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม Command Prompt ก็มีประโยชน์ในการใช้งานของมัน เช่น การรันคำสั่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของแอดมินอย่าง ping, ipconfig ซึ่งถ้าเราไม่ได้คุ้นเคยกับการทำงานผ่านคอมมานด์ไลน์อย่าง Command Prompt การจะหันไปใช้งานคอมมานด์ไลน์ระดับสูงอย่าง PowerShell ก็ยิ่งไม่มีความจำเป็น แต่ถ้าคร่ำหวอดหรือชำนาญกับการใช้ Command Prompt แล้ว ก็อาจหันมาลองฝึกใช้ PowerShell บ้างก็ได้ เพราะหลายคำสั่งบน Command Prompt ก็สามารถรันบน PowerShell ได้เช่นกัน
PowerShell นั้นมีความสามารถสูงมาก โดยสามารถทำงานบางอย่างที่ถ้าไม่ใช้เชลล์ตัวนี้แล้วก็อาจต้องหันไปพึ่งซอฟต์แวร์เธิร์ดปาร์ตี้ข้างนอกแทน PowerShell นี้เป็นฟีเจอร์ที่ทำให้ชีวิตของเหล่าแอดมินง่ายดายขึ้นมาก ด้วยการเขียนสคริปต์เพื่อรันคำสั่งที่ซับซ้อนแบบอัตโนมัติเพื่อแบ่งเบาภาระ
ที่มา : Technotification