แคสเปอร์สกี้เปิดเผยว่า องค์กร 10 แห่งมาการรวมตัวกันเพื่อประกาศเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือระดับโลก ภายใต้ชื่อ “Coalition Against Stalkerware” มุ่งหวังปกป้องผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตให้พ้นเงื้อมภัยคุกคามไซเบอร์ที่เรียกว่า สตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware) ซึ่งพันธมิตรนี้ประกอบด้วย Avira, Electronic Frontier Foundation, European Network for the Work with Perpetrators of Domestic Violence, G DATA Cyber Defense, Kaspersky, Malwarebytes, National Network to End Domestic Violence, NortonLifeLock, Operation Safe Escape และ WEISSER RING
สตอล์กเกอร์แวร์คืออะไร
โปรแกรมสตอล์กเกอร์แวร์ (Stalkerware) คือโปรแกรมที่สามารถล่วงล้ำก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และถูกใช้ผิดทางเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ในกรณีการกระทำทารุณต่อคู่สมรสหรือความรุนแรงในครอบครัว และใช้ในการแอบติดตาม แอบส่องข้อความ รูป โซเชียลมีเดีย โลเกชั่นตำแหน่งที่อยู่ ดักฟังเสียง หรือแอบบันทึกกล้อง ซึ่งในบางกรณี สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ โดยแอบติดตั้งแอปชนิดนี้เอาไว้บนเครื่องของเหยื่อ ซึ่งจะรันอย่างเงียบๆ ในแบ็กกราวน์โดยเหยื่อจะไม่รู้ตัวและไม่ยินยอมอย่างแน่นอน
โปรแกรมชนิดนี้ก่อปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายปี จำนวนของเหยื่อเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตระหนก องค์กรการกุศลหลายแห่งพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ จากข้อมูลของแคสเปอร์สกี้ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องเผชิญปัญหาจากโปรแกรมสตอล์กเกอร์แวร์นี้เพิ่มขึ้น 35% จาก 27,798 คนเมื่อปี 2018 เป็น 37,532 คนในปี 2019 นี้ และซ้ำร้ายภัยจากโปรแกรมจำพวกสตอล์กเกอร์แวร์นี้ยังขยายตัวขึ้นอีก ดังที่แคสเปอร์สกี้ตรวจพบสตอล์กเกอร์แวร์ในรูปแบบต่างๆ ถึง 380 แบบต่างกันในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 31%
วัตถุประสงค์ของการรวมพันธมิตร
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามมาตรฐานเพื่อตกลงใช้ร่วมกันสำหรับคำว่า “สตอล์กเกอร์แวร์” (Stalkerware) และเกณฑ์ในการตรวจจับ ซึ่งทำให้ค่อนข้างยากสำหรับอุตสาหกรรมไอทีซีเคียวริตี้ที่จะสื่อสารหากันในประเด็นนี้ ดังนั้น สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือระดับโลก “Coalition Against Stalkerware” จึงวางก้าวสำคัญในการต่อสู้กับสตอล์กเกอร์แวร์ ด้วยการร่างกำหนดนิยามที่เหมาะสมถูกต้อง และมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเกณฑ์การตรวจจับระบุชี้ตัวสตอล์กเกอร์แวร์
StopStalkerware.org
เพื่อสนับสนุนวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือครั้งนี้ ยังได้เปิดตัวเว็บพอร์ทัล www.stopstalkerware.org เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อ แบ่งปันความรู้ระหว่างสมาชิก พัฒนาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางจริยธรรม และให้ความรู้การอบรมแก่สาธารณชนถึงอันตรายของสตอล์กเกอร์แวร์
วัตถุประสงค์หลักของเว็บไซต์นี้คือจะเป็นแหล่งความช่วยเหลือออนไลน์แก่เหยื่อ / ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สามารถหาข้อมูลสตอล์กเกอร์แวร์ว่าคืออะไร ประเภทใด ทำอันตรายอะไรได้บ้าง และที่สำคัญคือวิธีที่จะป้องกันตัว และในเว็บไซต์ยังมีตัวระบุชี้ (indicators) เพื่อให้ตรวจสอบด้วยตัวเองได้ว่าตกเป็นเหยื่อของโปรแกรมนี้หรือไม่ และขั้นตอนต่อไปที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติ ขั้นแรกที่สำคัญคือเราต้องพิจารณาให้ดีว่า หากเราถอนโปรแกรมสตอล์กเกอร์แวร์นั้นออกไป อาจก่อผลร้ายมากกว่าดี เพราะว่าคนที่มาแอบส่องเราจะรู้ได้ทันทีจากแอปนั่นเอง
วียาเชสลาฟ ซาโกร์เชฟสกี้ หัวหน้าฝ่ายวิจัยแอนตี้มัลแวร์ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “เพื่อรับมือกับประเด็นนี้ บริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือคำปรึกษาทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกัน อุตสาหกรรมความปลอดภัยไอทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมได้ ด้วยการพัฒนาการตรวจจับระบุชี้สตอล์กเกอร์แวร์ และศักยภาพการแจ้งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อภัยเข้ามาใกล้ตัวคุกคามความเป็นส่วนตัว โดยองค์กรที่มีหน้าที่ช่วยเหลือนี้จะทำงานตรงกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว รู้ถึงความเจ็บปวด และความต้องการการช่วยเหลือได้ตรงจุด ดังนั้นจึงสามารถให้แนวทางแก่ทางฝั่งไอทีซีเคียวริตี้ได้ เมื่อทำงานร่วมกันได้เช่นนี้แล้ว จะสามารถประคับประคองช่วยเหลือให้เหยื่อรอดจากเหตุการณ์นี้ได้ด้วยการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค”
โครงการนี้เกิดจากแนวคิดที่ไม่เป็นการค้าการพาณิชย์แต่อย่างใด มุ่งหวังเพื่อนำองค์กรที่ไม่แสดงหากำไร วงการไอทีซีเคียวริตี้ และภาคส่วนอื่น เช่น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มาทำงานร่วมกัน และด้วยโครงการนี้มีความเกี่ยวโยงกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และสตอล์กเกอร์แวร์ตัวใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา กลุ่มพันธมิตร “Coalition Against Stalkerware” จึงยินดีเปิดรับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ อีกด้วย