“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ไม่ยอมหยุดนิ่งในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยขยายโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนของนิสิตและคณาจารย์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย สอดรับกับแนวคิดของการปรับโฉมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่การเป็น “Digital Lifestyle University” ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทุกแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน และจะทำให้ไลฟ์สไตล์ของนิสิต คณาจารย์ และบุคลากร มีความสะดวกสบายขึ้น สามารถเติมเต็มศักยภาพในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบได้ทุกวันทั้งขณะอยู่ในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย
ความท้าทาย
สถาบันการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายเช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนของอาจารย์และนิสิต สู่โลกออนไลน์ที่มีการทำกิจกรรม มีการโต้ตอบกัน มีการทำงานกลุ่ม เพื่อที่จะเสริมทักษะอื่นที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนิสิตสามารถค้นหาข้อมูลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเหล่านั้นได้จากอินเทอร์เน็ต และสามารถเรียนรู้ทางออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้การเชื่อมต่อและสื่อสารไร้สายกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลของทุกมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการให้บริการเครือข่ายไร้สายเช่นเดียวกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ทั่วไปก็คือ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายใต้ชื่อ Chula WiFi ให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ 150 อาคาร 750 ชั้น และมีจำนวนผู้ใช้รวมกว่า 50,000 คน แต่เนื่องจากรูปแบบการลงทุนทางด้านไอทีของมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นแบบ “กระจายศูนย์” แยกกันซื้อ แยกกันลงทุน แยกกันบริหารจัดการ ซึ่งคณะหรือหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่จะวางแผน จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้ระบบเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็น Silo-Based เมื่อการลงทุนเป็นไปในลักษณะของต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างดูแล ปัญหาที่ตามมาก็คือคุณภาพและบริการของระบบเครือข่ายไร้สายแต่ละคณะไม่เท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ไอทีในแต่ละคณะ
คุณรุ่งโรจน์ กิตติถาวรกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ด้วยรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ และลงทุนทางด้านไอทีกันเองของแต่ละคณะ แต่ละหน่วยงาน จึงไม่แปลกเลยว่าที่ผ่านมาการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายในมหาวิทยาลัยมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งคุณภาพสัญญาณที่ไม่ดีทั้งในแง่ความครอบคลุมพื้นที่และความเร็วในการเชื่อมต่อ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สายของแต่ละคณะก็ไม่เท่ากัน
คุณรุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นถึงอีกปัญหาหนึ่ง มาจากบางคณะมีการติดตั้งจุดแอ็กเซสพอยนต์ที่ไม่สอดคล้องกับการสภาพพื้นที่และไม่สมดุลกับจำนวนผู้ใช้งาน โดยคณะส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการให้บริการเครือข่ายไร้สายเฉพาะในห้องเรียนเป็นหลัก ขณะที่โถงใต้อาคารเรียนหรือลานกิจกรรมกลับใช้บริการเครือข่ายไร้สายไม่ค่อยได้ ทำให้เวลานิสิตออกมาอยู่นอกพื้นที่การเรียนการสอนก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการใช้บริการเครือข่ายไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินออกนอกคณะ หากเกิดปัญหาการใช้บริการเครือข่ายไร้สายก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครดี จะเป็นของคณะ หรือส่วนกลาง” การรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลา จึงถือเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัย
แนวทางการดำเนินงาน
เนื่องจากบริบทด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยจึงมีการปรับปรุงห้องเรียนให้มีความทันสมัยและขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่การให้บริการเครือข่ายไร้สายก็จะไม่เพียงพอ เราก็ต้องมีการวางแผนปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยก็เห็นประโยชน์ในจุดนี้ พร้อมทั้งให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านการลงทุนก็มีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณจากแบบต่างคนต่างลงทุนกันเองมาเป็นการลงทุนร่วมกัน รวมทั้งมีการวางแผนงบประมาณในระยะยาว 5 ปี อดีตที่ผ่านมาจะเป็นในลักษณะการวางแผนงบประมาณแบบปีต่อปี ซึ่งงบประมาณทางด้านไอทีที่ได้รับการจัดสรรก็มีอย่างจำกัด ในแต่ละปีจะมีงบประมาณในการลงทุนติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ใหม่และทดแทนแอ็กเซสพอยนต์เดิมที่หมดอายุได้มากสุดปีละไม่เกิน 100 ตัวเท่านั้น
ซึ่งคุณรุ่งโรจน์ประเมินว่าในปีแรกของการดำเนินงานจำเป็นต้องใช้แอ็กเซสพอยนต์กว่า 2,000 ตัว ในการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย จึงจะสามารถเปลี่ยนการให้บริการเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้ในระยะเวลาสั้นๆ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยมีโครงการ CU Transformation ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกภาคส่วน โดยจะมีการนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้งานกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สายของเราไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
หลังจากชี้แจงให้ผู้บริหารทราบและเข้าใจถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายแล้ว ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทีมงานไอทีที่กระจัดกระจายอยู่ตามคณะและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ชีวิต ให้มีความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
หลักเกณฑ์ในการเลือกโซลูชัน
คุณรุ่งโรจน์เล่าถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและคัดสรรโซลูชันสำหรับโครงการดังกล่าวนี้ว่า เราเริ่มต้นคิดและประเมินจาก Why ซึ่งเป็นแก่นแท้ของโจทย์ในการดำเนินโครงการนี้ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วตามด้วย How วิเคราะห์และวางแนวทางในการดำเนินโครงการ สุดท้ายคือ What พิจารณาถึงเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะมาตอบโจทย์และแนวทางการดำเนินโครงการที่วางไว้ โดยได้เลือกเอาซิสโก้มาเป็นพาร์เนอร์หลัก “ซิสโก้ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรด้านระบบเครือข่ายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย มีการทำงานและความร่วมมือผ่านโครงการต่างๆกับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค และถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้อยู่เสมอ รวมทั้งการให้บริการอย่างมืออาชีพ” เขากล่าว
ผลลัพธ์ที่ได้จากการวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สาย
สัญญาณเครือข่ายไร้สายสามารถครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งพื้นที่ภายในห้องเรียนและพื้นที่ภายนอกห้องเรียน สามารถเชื่อมต่อและใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายแบบไร้รอยต่อได้จากทุกพื้นที่และทุกเวลา รวมถึง นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายไร้สายในด้านการเรียนการสอน และการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญสามารถบริหารจัดการและให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายทั่วทั้งมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่ๆ ในอนาคตได้ง่ายขึ้น