คุณวรนุช เดชะไกศยะ ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปฏิบัติการ(CIOO) ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน)ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่บนถนนพระราม 3 ประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านสถานบันการเงินในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ปัจจุบันแบงค์กรุงศรีฯ ถือเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย
โดยคุณวรนุชกล่าวกับทาง CIO Asia ว่าธนาคารกำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิวัติทางดิจิตอลอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการเอาซ์ซอร์สหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และพัฒนาการให้บริการลูกค้าผ่านระบบดิจิตอลด้วย
ธนาคารกรุงศรีฯ เคยมีภาพลักษณ์ในฐานะธนาคารเก่าเก็บ เป็นป้าแก่ บริการเชื่องช้าและหยุดนิ่งไม่ตามทันโลกราวกับถูกแช่แข็งอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมชื่อ ทำให้ต่อมาธนาคารพยายามอย่างมากในการพัฒนาเพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับเข้ามาเป็นลูกค้า จากการที่ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 68 ล้านคน และเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรมบนโทรศัพท์ของตนเองมากกว่าไปที่สาขา
แม้ธนาคารเองจะมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงมากในแง่ของทรัพย์สิน แต่ก็จำเป็นต้องทำตลาดกับคนรุ่นใหม่ด้วย จึงเป็นเหตุสำคัญที่ธนาคารต้องผลักดันการให้บริการไปสู่โลกดิจิตอล จากสาขาไปสู่บนแอพ เหมือนกับที่หลายธนาคารคู่แข่งกำลังพยายามอยู่ตอนนี้
หนึ่งในแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาคือ Krungsri Mobile Application (KMA) ซึงเป็นแอพที่เปิดให้ลูกค้าจัดการบัญชีและบัตรของตนเองได้ ไปจนถึงการโอนเงิน, ซื้อขายหุ้นและกองทุน, รวมทั้งตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และฟังก์ชั่นอื่นๆ มากมาย KMA ยังรองรับพร้อมเพย์ที่เป็นบริการร้องขอการโอนและชำระเงินในทันทีอีกด้วย
คุณวรนุชย้ำว่าตนเองไม่มีนโยบายที่จะปิดสาขาทางกายภาพ แต่ก็ต้องพยายามพัฒนาให้เป็น “สาขาแบบดิจิตอล” ในลักษณะของเครื่องอัตโนมัติที่ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ด้วยตัวเองแทนที่จะเสียเวลาต่อคิวรอพนักงานที่เคาเตอร์แบบเดิม โดยมีแผนจะใช้ระบบไบโอเมตริก และระบบที่ตรวจสอบตัวตนลูกค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-KYC เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ด้วยตัวเองผ่านสาขาดิจิตอลที่ไหนก็ได้ หรือแม้แต่ผ่านระบบออนไลน์
ซึ่งการใช้ e-KYC เปิดบัญชีใหม่นั้นเพิ่งผ่านการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย อีกทั้งถือเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการฟอกเงินหรือการสนับสนุนเงินแก่ผู้ก่อการร้ายอีกด้วย
ความท้าทายประการต่อมาของธนาคารกรุงศรีฯ คือการผสานการทำงานเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่ทาง MUFG เข้าถือหุ้นธนาคาร ซึ่งการมีแพลตฟอร์มใหม่เข้ามานั้นย่อมจำเป็นต้องผสานการทำงานเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการเอาท์ซอร์สระบบโครงสร้างพื้นฐานด้วยการใช้บริการของ IBM ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้สามารถมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่สำหรับยกระดับประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ
นอกจากนี้เมื่อปี 2017 ธนาคารได้ร่วมมือกับ IBM Cloud Garage เพื่อเริ่มนำร่องโครงการที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการผ่านเมนเฟรม z14, ระบบสตอเรจ, เอทีเอ็ม, เซิร์ฟเวอร์, และเครือข่ายของไอบีเอ็มโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ได้ทั้งเสถียรภาพและความสามารถในการปฏิวัติทางดิจิตอลโดยอาศัยเทคโนโลยีบนคลาวด์
ประเด็นที่กรุงศรีฯ จำเป็นต้องเอาต์ซอร์ส เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในรายงานประจำปี 2017 ที่ผ่านมานั้น ได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ที่จำเป็นสำหรับการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีร่วมกับทักษะของพนักงานเข้าด้วยกัน
ธนาคารกรุงศรีฯ มุ่งมั่นที่จะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันเทคโนโลยีทางดิจิตอลให้สอดคล้องกับโครงการ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริม อย่างไรก็ดี ธนาคารเห็นว่าการปฏิวัติทางดิจิตอลควรเริ่มต้นจากข้างในออกมาข้างนอก โดยต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรก่อนด้วยการเปิดกว้างรับคนรุ่นใหม่รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาร่วมงานด้วย
ที่มา : CIO.com