หน้าแรก Artificial Intelligence AIS Business ยกระดับผู้นำแห่งอนาคต! เปิดตัว ‘ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ – AIS EEC’ ให้ผู้ประกอบการได้สัมผัสเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

AIS Business ยกระดับผู้นำแห่งอนาคต! เปิดตัว ‘ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ – AIS EEC’ ให้ผู้ประกอบการได้สัมผัสเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

แบ่งปัน

ด้วยความมุ่งมั่นของ AIS ในการที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์สู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่นำไปใช้ได้อย่างแท้จริง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ 5G มาใช้ในเชิงธุรกิจ ทำให้พวกเขาคือผู้นำในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถที่จะก้าวล้ำนำหน้าในการดำเนินธุรกิจและสร้างสังคมดิจิทัลไปพร้อมกัน

และเมื่อเร็วๆ นี้ Enterprise ITPro ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังแถลงข่าวของ AIS Business เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในปี 2024-2025 พร้อมทั้งการเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ (หรือ AIS EEC : Evolution Experience Center) ในการนี้ทางคุณภูผา เอกะวิภาต รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS ได้เล่าให้ฟังว่า การการดำเนินธุรกิจที่ต้องการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในปัจจุบัน มีความท้าทายและภัยคุกคามในหลายปัจจัย ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้อันประกอบด้วย ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่ล้มล้างการดำเนินธุรกิจ (Digital Disruption), การแบ่งแยกภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า (Geopolitics & Trade War), ภาวะการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเสื่อมถอย (Recession), และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Climate Change)

ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพความเปลี่ยนแปลง โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับภาครัฐที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยการส่งเสริมการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ดังนั้นเมื่อรวมเอาความสำคัญทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันจึงเป็นที่มาของแนวการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า AIS Ecosystem Economy หรือ “เศรษฐกิจแบบร่วมกัน” โดยมีเป้าประสงค์หลัก คือ การเสริมความร่วมมือในการสร้างธุรกิจและนวัตกรรม เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยที่ยั่งยืนได้ โดยเน้นการทำงานใน 3 เรื่อง คือ Digital Infrastructure การสร้างระบบพื้นฐานโครงสร้างดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่ง, People & Sustainability การพัฒนาคนให้เกิดความยั่งยืน และ Cross Industry Collaboration ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม

5 แกนหลักเพื่อวิวัฒนาการด้านดิจิทัล

AIS Business ได้เผยถึงมุมมองที่เป็น 5 แกนหลักด้านดิจิทัล ที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

– 5G Ecosystem ขุมพลังโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับธุรกิจ จากศักยภาพและคลื่นความถี่ซึ่งมีมากที่สุดในรูปแบบหลากหลายทั้ง Network Slicing, Private Network เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่น ล่าสุด โรงงาน Midea Smart Factory ผู้นำการผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ ก็ได้เลือกใช้ AIS Dedicated 5G Private Network เป็นโครงข่ายหลัก เป็นต้น

– Intelligent Network and Cloud Infrastructure ขุมพลังแห่งโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรและการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็วและปลอดภัยในยุคปัจจุบัน พร้อมให้บริการตอบโจทย์ทุกองค์กร ครบครันตั้งแต่ On-Premise Cloud, Edge Computing, Data Center, Local Cloud ไปจนถึงระดับ Hyperscale Cloud โดยประกาศความร่วมมือกับ Oracle กับการเป็นผู้ให้บริการ Hyperscale Cloud รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย, รางวัล Microsoft Partner of the Year ถึง 3 ปีซ้อน, การเป็นผู้ให้บริการ Broadcom’s VMware Cloud Service Provider อันดับหนึ่ง ในประเทศ และบริการศูนย์ GSA Data Center ที่เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2025

– AI and Data Analytics ขุมพลังแห่งปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก มาพร้อม Analytic X บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Insight) ที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ในการวางกลยุทธ์และสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างตรงจุด

– Digital Platform and APIs ขุมพลังแห่งการเชื่อมต่อ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง AIS Open APIs และ AIS CPaaS – Communication Platform as a Service แพลตฟอร์มการสื่อสารที่ยืดหยุ่นสำหรับธุรกิจ

– Industry Transformation ขุมพลังการยกระดับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปทรานสฟอร์มองค์กร โดยเน้นให้ความสำคัญกับองค์กรในทุกระดับ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต, ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก, ธุรกิจ SME, องค์กรสาธารณะและภาครัฐ สนับสนุนการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญ โดยลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะทำงานพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC HDC ทั้ง 8 ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G ภายใต้โครงการ “ผลิตและพัฒนาบุคลากร ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G ตอบสนองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” และล่าสุดการเปิดตัว ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจแห่งแรกที่ตั้งอยู่ใจกลางThailand Digital Valley AIS EEC Evolution Experience Center

การเปิดตัวศูนย์ AIS EEC

นอกจากที่ทาง AIS Business ได้อธิบายถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในปีนี้แล้ว ยังมีไฮไลท์ที่สำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือการเปิดตัว “ศูนย์ AIS Evolution Experience Center (AIS EEC)” หรือศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ ทั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะออกแบบมาเพื่อสนับสนุนและต่อยอดการพัฒนาของธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่ปัจจุบันนี้ภาครัฐกำลังผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เช่น Next Generation Automotive, ระบบ Robotic, ระบบ Intelligent Electronics, Aviation and Logistics รวมไปถึงกลุ่มที่แม้แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมก็ตามที อย่างเช่น Biochemical, Food, Medical เป็นต้น ก็จะสามารถสัมผัสถึงเทคโนโลยีชั้นนำจากทางศูนย์ฯ นี้ได้

ซึ่ง AIS EEC จะมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตต่างๆ อาทิ 5G, Cloud, AI ฯลฯ ให้แก่ผู้ประกอบการทางธุรกิจดังกล่าวมาศึกษาและเยี่ยมชม พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของกรณีศึกษาจริงในการนำเอาเทคโนโลยีข้างต้นไปประยุกต์กับการดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์ที่สามารถสร้างการ Collaboration ระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ผู้ให้บริการ และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกันได้

สำหรับศูนย์ AIS EEC แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ Thailand Digital Valley (อาคาร TDV 2) ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งบริหารจัดการและรับผิดชอบโดยทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งภายในศูนย์นี้แบ่งออกเป็นสัดส่วนประกอบด้วย

  • โซนของ Technology & Knowledge Sharing พื้นที่เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน
  • โซนของ Solution Exhibition & Showcase พื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ ตัวอย่างในแต่ละอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีอะไรไปใช้อย่างไรบ้าง และในการจัดแสดงนี้จะมีการหมุนเวียน เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ได้เข้าชมกัน
  • โซนของ POC & Testbed พื้นที่สำหรับการทำ ทดสอบ ทดลอง การใช้งานเทคโนโลยีล้ำสมัย มาทำการ Workshop มาทำงานร่วมกัน โดยพื้นที่ AIS EEC แห่งนี้ได้เตรียม Infrastructure มี Platform ต่างๆ ไว้ให้ทดสอบทดลองได้ เช่น 5G, Cloud, Edge Computing เป็นต้น
  • โซนของ Business Matching เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ เอกชน พาร์ทเนอร์ผู้นำด้านเทคโนโลยี และภาคีอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม หรือโครงการใหม่ๆ

ชวนสัมผัสกับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่ล้ำสมัย

อย่างที่ได้อธิบายไปว่าศูนย์ AIS EEC แห่งนี้มุ่งเน้นในการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจได้เข้าใจถึงเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ โดยในโซนที่เป็นไฮไลท์ของศูนย์แห่งนี้ก็คือ Solution Exhibition & Showcase โดยมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ดังนี้

Digital Infrastructure & Platform : หัวใจหลักของการสร้างธุรกิจที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แข็งแกร่ง AIS EEC ได้จัดแสดง เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่เป็นรากฐานสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดโซลูชัน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจในหลายๆ แง่มุมไม่ว่าจะเป็น Business Connectivity ที่เราจะได้เห็นการเชื่อมต่อกันระหว่างธุรกิจ, การได้เรียนรู้เทคโนโลยีทั้ง 5G / EDGE / AIS Cloud X  ที่เมื่อเอาเทคโนโลยี 5G มาทำงานร่วมกับ AIS Cloud X จะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อที่ไหลลื่นและไม่ติดขัด หรือแม้แต่กระทั่ง PARAGON ซึ่งเป็น Orchestration Platform ที่จะช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างรวดเร็วและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมได้ดีกว่า

Communication Platform : การเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารที่ดี โดยมีองค์ประกอบและเทคโนโลยีที่โดดเด่นเช่น แพลตฟอร์มการสื่อสารแบบบริการ AIS CPaaS – Communication Platform as a service และ Open API ที่รวมอยู่ในระบบ โดยมีการนำเสนอ กรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ “ไปรษณีย์ไทย” ที่มีการใช้ Number Masking รันอยู่บน CPaaS ช่วยให้พนักงานของไปรษณีย์ไทยสามารถโทรไปหาลูกค้าผ่านทางเบอร์โทรศัพท์ 1505 (รวมทั้งลูกค้ายังสามารถโทรกลับมาได้เช่นกัน) ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นเบอร์ที่แท้จริงจากเจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ไทยไม่ใช่มิจฉาชีพแต่อย่างใด รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ AI VoiceBot ที่นำไปใช้ในทางธุรกิจ และทาง AIS เองก็นำเอา AI VoiceBot ไปใช้ใน Call Center ผ่านทางระบบ 1175 ด้วย

Data Analytic Platform : เทคโนโลยีในการประมวลผลทราฟฟิกในโครงข่ายด้วยการใช้ Analytic X เพื่อสร้างมุมมองการใช้งานเครือข่ายเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเชิงสถิติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบความหนาแน่น (Density) ของผู้ใช้งานบนพื้นที่บางที่ เช่นการประเมินมูลค่าของป้ายโฆษณาหรือบิลบอร์ดบางแห่ง เป็นต้น

นอกจากเทคโนโลยีดิจิทัลข้างต้นแล้ว AIS Business ยังได้นำเสนอยูสเคสที่น่าสนใจผ่านทางส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Digital Industry Evolution ที่ประกอบด้วย Smart Manufacturing, Smart Property & Retail รวมไปถึงเรื่องราวที่น่าสนใจในแง่ของ Sustainable Nation ทั้ง Smart City, Smart Agriculture, Smart Health ตลอดจน Modern Business Transformation ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเทคโนโลยีใหม่ในการใช้งานเช่น Cloud PC, Conference Platform, Modern Work, CCTV, เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะสามารถเข้าไปสัมผัสได้ผ่านทางศูนย์ AIS EEC แห่งนี้

บทสรุป

AIS Business มุ่งมั่นและวางแผนในการช่วยพัฒนาธุรกิจภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า AIS Ecosystem Economy หรือ “เศรษฐกิจแบบร่วมกัน” โดยมี 5 แกนหลักทางเทคโนโลยีที่เน้นการส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าวประกอบด้วย 5G Ecosystem, Intelligent Network and Infrastructure, AI and Data Analytics, Digital Platform and APIs และ Industry Transformation พร้อมทั้งยังร่วมมือกับทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จัดตั้งศูนย์ ศูนย์ AIS Evolution Experience Center (AIS EEC) ที่เป็นศูนย์ที่จะช่วยก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัล และได้สัมผัสกับเทคโนโลยีจริงและกรณีศึกษาในการทำงานตลอดจนนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมของตนได้อย่างดีเยี่ยมนั่นเอง สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ AIS EEC สามารถเข้าไปนัดหมายได้ที่ https://m.ais.co.th/GAHZ89dhP