หลายๆ บริษัทกำลังหันมาพึ่งพาแอพบนคลาวด์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Office 365, Salesforce.com, Box, AWS, Google Suite, Slack, Dropbox, ADP, WebEx เป็นต้น ซึ่งหลายแอพจำเป็นต้องเชื่อมต่อเพื่อทำงานอย่างรวดเร็ว แอดมินเครือข่ายจึงจำเป็นต้องลดดีเลย์ของแอพเหล่านี้ให้น้อยที่สุดให้ได้
แต่อุปสรรคประการสำคัญคือ การที่ทั้งตัวแอพและข้อมูลไปอยู่บนพับลิกคลาวด์ทั้งหมด ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมหรือมองเห็นทั่วทั้งเครือข่ายได้อย่างแท้จริง จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะต้องขจัดต้นตอของดีเลย์ก่อนที่ผู้ใช้จะรู้สึกแล้วจะเข้ามารุมสกรัมฝ่ายไอที โดยเฉพาะแอพเรียลไทม์ที่อ่อนไหวและสูบแบนด์วิธอย่างมากเช่น ระบบโทรศัพท์หรือวอยซ์, ประชุมผ่านวิดีโอ, คอนแทคเซนเตอร์, หรือทูลพวก Collaboration อื่นๆ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนอกจากแบนด์วิธของอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเกี่ยวกับเวลาหน่วงแบบไปกลับหรือ RTT Latency, Jitter, การสูญหายของแพ็กเก็ต, รวมทั้ง Packet Reorder Number ด้วย โดยเฉพาะ Latency ที่ไม่เพียงแต่ต้องจัดการบนแลนในองค์กรเองแล้ว ยังเกี่ยวกับการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ตที่ที่บริการบนคลาวด์อาศัยอยู่อีกด้วย
ยิ่งทาง ISP มักการันตีให้ได้แค่อัพไทม์กับทรูพุต แต่รับรองคุณภาพของ Latency และ Jitter ไม่ได้แล้ว ทาง InformationWeek.com จึงรวบรวมเคล็ดลับ 9 ประการที่จะลด Latency ได้ดังนี้
1. หาจุดคอขวดให้เจอ เป็นขั้นตอนจำเป็นอันดับแรกที่ต้องหาตำแหน่งที่เป็นคอขวดบนเครือข่ายของคุณ ซึ่งผู้ให้บริการคลาวด์หลายเจ้าจะมีทูลสำหรับช่วยตรวจประเมินให้ เช่น ไมโครซอฟท์ก็มี Skype for Business Network Assessment Toolที่สามารถดาวนโหลดมาทดสอบก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้บริการคลาวด์ดังกล่าวทั่วทั้งองค์กร หรืออาจจะหันมาใช้ทูลพื้นฐานสุดๆ อย่าง Ping, Traceroute, และ SNMP ในการตรวจหาลิงค์บนเครือข่ายที่แออัดได้
2. ย้ายสำนักงานไปอยู่ใกล้กับที่ตั้งดาต้าเซิร์ฟเวอร์ของพับลิกคลาวด์ หรือในทางกลับกันคือ เลือกบริการที่มีดาต้าเซ็นเตอร์ใกล้กับเรามากที่สุด เพื่อลดระยะทางผ่านอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อระหว่างกัน เพราะยิ่งผ่านเกตเวย์ข้ามหลายเครือข่าย หรือผ่าน Hop น้อยเท่าไร ย่อมได้ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะในด้าน Latency
3. เช่าลิงค์ส่วนตัวเชื่อมต่อโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านเน็ต ถ้าคุณมีเงินเหลือพอ และคิดว่าคุ้มพอ ก็มีผู้ให้บริการพับลิกคลาวด์รายใหญ่หลายเจ้าที่ซัพพอร์ตการตั้งลิงค์ WAN เชื่อมต่อกับลูกค้าโดยตรง เช่น AWS Direct Connect ที่ช่วยขจัดอุปสรรคที่ส่งผลต่อ Latency จากภายนอกบนอินเทอร์เน็ตที่ควบคุมได้ยาก
4. เลือกใช้เป็นแบบไฮบริดจ์คลาวด์ โดยเฉพาะแอพที่อ่อนไหวต่อ Latency มากๆ ก็ควรรันแอพภายในองค์กรแทน หรือหันมาใช้ระบบไฮบริดจ์คลาวด์ที่เลือกส่วนของแอพที่สำคัญมากมารันในดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเอง ขณะที่เอาโหลดงานส่วนอื่นที่ไม่ได้อ่อนไหวขนาดนั้นไปรันบนคลาวด์ไปพร้อมกัน
5. ใช้สถาปัตยกรรมคลาวด์แบบกระจายตำแหน่งสำหรับบริษัทที่มีสาขากระจายทั่วโลก การเลือกใช้คลาวด์ที่มีการกระจายตำแหน่งที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ย่อมช่วยลดดีเลย์ในการเชื่อมต่อจากสำนักงานสาขาต่างๆ
6. เขียนแก้แอพใหม่ให้ทำงานได้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม เพราะมีหลายครั้งโป๊ะแตกว่าที่แอพทำงานช้าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเน็ตหรือการเชื่อมต่อเลย แอพที่รันบนคลาวด์ควรเขียนโดยอำนวยความสะดวกสำหรับอยู่บนคลาวด์โดยเฉพาะ อย่างเรื่องของการรับส่งข้อมูล เป็นต้น
7. ใช้ QoS แม้คุณอาจจะไม่สามารถบังคับใช้โพลิซี QoS ได้ครอบคลุมตลอดระยะการเชื่อมต่อ แต่อย่างน้อยก็ควรจัดการโพลิซีจัดลำดับความสำคัญการส่งข้อมูลแต่ละประเภทนี้ภายในเครือข่ายองค์กรของคุณด้วย ทั้งแลนแบบใช้สายและไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้แอพที่อ่อนไหวต่อ Latency มากๆ มีความสำคัญในการสื่อสารมากที่สุด
8. ใช้ทูลตรวจสอบประสิทธิภาพแอพพลิเคชั่น หรือ APM เพื่อระบุหาต้นตอของปัญหาประสิทธิภาพที่แท้จริงว่าเกิดจาก Latency จริงหรือไม่ และเกิดที่ตำแหน่งใด เกิดจากเครือข่ายหรือเป็นจากตัวแอพเอง
9. ใช้ SD-WAN เชื่อมต่อกับคลาวด์ โดยตั้งค่าเราท์เตอร์ SD-WAN แบบเวอร์ช่วลที่อยู่บนผู้ให้บริการคลาวด์ IaaS เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อหลายลิงค์ระหว่างคลาวด์กับเครือข่ายขององค์กร ซึ่งเทคโนโลยี SD-WAN จะสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด มี Latency, Packet Loss, และ Jitter น้อยที่สุดได้อย่างอัจฉริยะ
ที่มา : Informationweek