แม้เทคโนโลยีทุกวันนี้จะก้าวไปเร็วแค่ไหน แต่ก็ยังมีหลายคนในวงการเน็ตเวิร์กที่ยังไม่แม่น หรือไม่ได้เข้าใจถึงพื้นฐานเบสิกที่เป็นบันไดก้าวแรกของความทันสมัยในปัจจุบัน แม้แต่เรื่องของ Duplex ที่เรามักนึกถึงอุปกรณ์พวกวอหรือวอล์กกี้ทอล์กกี้ ที่เมื่อฝั่งหนึ่งพูด อีกฝั่งต้องหยุดฟังจนกว่าฝั่งที่พูดจะพูดเสร็จ
แต่พอพูดถึงดูเพล็กซ์ที่แบ่งตามช่องเวลา หรือ Time-Divisional Duplex (TDD) แล้ว หลายคนก็เริ่มส่ายหัวยอมแพ้ในการทำความเข้าใจ แม้ว่า TDD นี้อยู่รอบตัวเราเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณ Wi-Fi, บลูทูช, หรือโทรศัพท์ไร้สาย ทั้งที่จริงๆ แล้วแปลตามตัวได้เลยว่า แพ๊กเก็ตข้อมูลขาส่งกับขารับถูกสลับใช้บนความถี่เดียวกันในแต่ละเวลาเพื่อประหยัดสื่อหรือย่านความถี่ที่ใช้ ซึ่งแม้จะสลับกันอย่างรวดเร็วจนมนุษย์จับความกระตุกไม่ทัน แต่ก็มีลูกค้าบางรายกลัวว่าการใช้ TDD บน VoIP ของตนเองดูเป็น Half Duplex ถึงขนาดถามว่าต้องมานั่งพูด “ทราบแล้วเปลี่ยน” เหมือนสมัยวอหนึ่งวอสอง
สรุปก็คือ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ TDD เป็น Half-Duplex ที่จับความผิดปกติได้ยาก ใช้เพื่อประหยัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่เนื่องจากการเป็น Half-Duplex พวกผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องที่โฆษณาแบนด์วิธของตนเองเท่าไรนั้น เอาจริงก็ต้องหารครึ่งถึงจะได้แบนด์วิธของจริงในแต่ละขาอัพและดาวน์ลิงค์ โดยมักเขียนกำกับว่าเป็นทรูพุตโดยรวม หรือ “Aggregate” เช่น แอคเซสพอยต์เจ้าหนึ่งโฆษณาว่าทรูพุตรวมของตนเองเท่ากับ 170Mbps นั่นคือ เวลาใช้งานจริงจะแบ่งเป็นทรูพุตขาอัพลิงค์ 85Mbps และขาดาวน์ลิงค์ 85Mbps เป็นต้น
สำหรับข้อดีของ TDD นั้น หลักๆ คือการประหยัดทรัพยากรบนสื่อ โดยเฉพาะการแย่งกันใช้ย่านความถี่ฟรีพวก 2.4 กับ 5GHz นอกจากนี้การแบ่งสลับใช้ไปมา ยังสามารถแบ่งแบบไม่สมมาตร เช่น ให้ทรูพุตฝั่งอัพลิงค์เยอะๆ สลับมาดาวน์ลิงค์น้อยๆ ตามการใช้งานได้ด้วย เช่น ระบบกล้องวงจรปิด, การบรอดคาสต์หรือกระจายเสียง, หรือแม้แต่การท่องเน็ตที่ขาดาวน์โหลดได้เยอะกว่าอัพโหลด
แต่แน่นอนว่าข้อเสียก็คือความช้า ช้าตรงการมาแบ่งจังหวะรอดีเลย์ระหว่างสลับขาไปมา โดยเฉพาะการสื่อสารที่สลับขาแบบสมมาตรที่มีช่วงดีเลย์คั่นบ่อยมาก เป็นต้น
ดังนั้นถ้าต้องการการสื่อสารแบบ Full Duplex ที่แยกความถี่หรือแยกเลนถนนสื่อสารอย่างชัดเจน ซึ่งเราเรียกว่าดูเพล็กซ์ที่แบ่งตามคลื่นความถี่หรือ Frequency-Division Duplex (FDD) ก็จะได้ทรูพุตที่เต็มเปี่ยมโดยไม่ต้องแคร์ขาขึ้นหรือขาลง แถมดีเลย์น้อยมากเพราะไม่มีกรรมวิธีสลับขาไปมาให้งง และเป็นที่นิยมใช้กับย่านความถี่ที่จดทะเบียนจองไว้กับกสทช. หรือหน่วยงานรัฐที่มีระเบียบกำกับการใช้ชัดเจน
ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนสูงโดยเฉพาะการลงทุนกับสื่อ (หรือความยุ่งยากในการขออนุญาต) รวมทั้งถ้าเอาไปใช้กับการใช้งานที่ไม่สมมาตร คุณจะรู้สึกถึงความไม่คุ้มทันที เหมือนรถติดอยู่ฝั่งนี้ แล้วต้องมานั่งมองถนนอีกฝั่งโล่งแบบน้ำลายไหลยืด
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ : http://www.digitalairwireless.com/wireless-blog/recent/half-duplex-vs-full-duplex.html