การควานหาต้นตอของปัญหาเน็ตเวิร์กนับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการผสานกันระหว่างทักษะที่สั่งสมมายาวนาน และทูลสำเร็จรูปที่จำเป็นทั้งหลาย ซึ่งในงาน Interop ITX เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาเครือข่ายอย่าง Mike Pennacchi ได้ยกตัวอย่างทูลที่จำเป็นเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทูลที่โหลดได้ฟรี
โดยมีตั้งแต่ทูลที่ตรวจสอบทรูพุต ไปจนถึงทูลตรวจจับและวิเคราะห์แพ็กเก็ตข้อมูล รวมทั้งทูลที่นำเสนอข้อมูลในรูปของกราฟที่ทำให้เข้าใจสถานะสุขภาพของเครือข่ายได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างทูลเหล่านี้ที่เป็นโอเพ่นซอร์สชื่อดังได้แก่ iperf, Wireshark, nmap, และ Snort เป็นต้น ซึ่งทาง Pennacchi ได้แบ่งกลุ่มของทูลต่างๆ เป็นสามกลุ่มใหญ่คือ ทูลสำหรับใช้งานบนแล็ปท็อป, ทูลที่ใช้จัดการจากศูนย์กลาง, และทูลสำหรับแก้ปัญหาจากระยะไกล
สำหรับการตรวจจับแพ็กเก็ตข้อมูลนั้น จำเป็นต้องมีการเข้าแทรกแซงระหว่างเส้นทางเชื่อมต่อ ซึ่ง Pennacchi แนะนำว่าการตั้งค่า Span Port จะคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าการติดตั้งตัวตรวจจับข้อมูล หรือ Tap แบบ Fault-Tolerant ที่มีราคาแพง หรืออาจจะใช้สวิตช์อย่าง Netgear GS105E ที่ใช้เป็นตัว Tap ได้แบบราคาย่อมเยา โดยสามารถตั้งค่าให้สะท้อนสำเนาข้อมูล หรือทำ Mirror บนพอร์ตตั้งแต่ 1 – 4 พอร์ตได้
Pennacchi เป็นเจ้าของ และหัวหน้านักวิเคราะห์ที่ Network Protocol Specialists ซึ่งเป็นบริษัทด้านการอบรมและวิเคราะห์เครือข่ายที่เมืองซีแอตเทิ่ล รัฐวอร์ชิงตัน โดยเขาเองเป็นอาจารย์อบรมของ Interop มาอย่างยาวนาน และเข้าร่วมงานประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ
โดยทูลจำเป็นต่างๆ นอกเหนือจากทูลพื้นฐาน ที่ Pennacchi รวบรวมไว้มีถึง 14 ตัวด้วยกัน ได้แก่:
1. iperf ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายสามารถใช้ทูลนี้ในการวัดทรูพุต, Packet Loss, และ Jitter สำหรับแก้ปัญหาเกี่ยวกับแบนด์วิธ โดยรองรับทั้งการสื่อสารแบบ TCP และ UDP โดยทาง Pennacchi แนะนำให้ใช้ UDP แทน TCP ในการทดสอบการเชื่อมต่อของ VoIP, ตรวจสอบผลกระทบด้านประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง, หรือวัด Packet Loss กับ Jitter
2. Wireshark เป็นทูลวิเคราะห์และตรวจจับแพ็กเก็ตแบบโอเพ่นซอร์สที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างดี วิศวกรเครือข่ายสามารถนำมาใช้วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาการเชื่อมต่อ, แอพพลิเคชั่นที่รันช้า, และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ บนเครือข่ายได้ ซึ่งสามารถตรวจจับได้บนเครือข่ายทั้งแบบใช้สายและไร้สาย
3. Wi-Fi Explorer เป็นยูทิลิตี้บนเครื่องแมค สำหรับค้นหาเครือข่าย Wi-Fi ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลอย่างชื่อเครือข่าย, BSSID, อัตรารับส่งข้อมูลที่รองรับ, รวมทั้งข้อมูลช่องสัญญาณ อีกทั้งยังให้ข้อมูลเชิงภาพของสภาพแวดล้อมบน WLAN ซึ่งทูลนี้มีราคาประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ และทำงานบน OSX ตั้งแต่เวอร์ชั่น 10.7 ขึ้นไป
4. TCP Traceroute เป็นทูลที่เปิดให้วิศวกรเครือข่ายสามารถตรวจย้อนดูเส้นทางส่งข้อมูลบนเครือข่ายได้โดยใช้โปรโตคอล TCP แทน ICMP ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจเช็คไฟร์วอลล์ที่บล็อกพอร์ตต่างๆอยู่ รวมทั้งสามารถส่งแพ็กเก็ต SYN โดยระบุพอร์ต TCP ที่ต้องการได้ด้วย