หน้าแรก Internet of Things เทคโนโลยีเครือข่าย LPWAN สำหรับงานด้านอุตสาหกรรมแบบ IIoT โดยเฉพาะ

เทคโนโลยีเครือข่าย LPWAN สำหรับงานด้านอุตสาหกรรมแบบ IIoT โดยเฉพาะ

แบ่งปัน

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด Internet of Things หรือ IoT ได้ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อบนเครือข่าย WAN ที่ใช้พลังงานต่ำ หรือ Low Power Wide Area Network (LPWAN) เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

เทคโนโลยี LPWAN นี้เป็นการทำให้เครือข่ายเชื่อมต่อในระยะทางไกลได้โดยใช้พลังงานต่ำ ซึ่งเหมาะกับการสื่อสารระหว่าง IoT หรือการสื่อสารแบบระหว่างเครื่องจักร (M2M) ซึ่งมีโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันอยู่หลายตัวอาทิเช่น LoRa, Narrowband-IoT (NB-IoT), เครือข่าย LPWA ของ Sigfox, หรือ Random Phase Multiple Access (RPMA) จาก Ingenu ซึ่งให้ระยะการเชื่อมต่อได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร

LPWAN ถือว่าเข้ามาทดแทนเครือข่ายอุปกรณ์พกพาอย่าง 4G ปัจจุบันที่เน้นการใช้งานของระดับคอนซูเมอร์เป็นหลักมากกว่านำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างด้านการเกษตร, การผลิต, บริการสุขภาพ, สมาร์ทซิตี้, และด้านลอจิสติก ที่มีเครื่องจักรและตัวเซ็นเซอร์แบบ IoT จำนวนมหาศาล

ทาง Futuriom ได้ออกมาตีผลการศึกษาว่า เทคโนโลยี LPWAN นี้จะเป็นหัวใจในการนำ IoT มาใช้ในวงการอุตสาหกรรม หรือเรียกว่า IIoT ได้อย่างแท้จริง เรียกได้ว่าเราไม่สามารถนำ IIoT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ถ้าขาด LPWAN

สำหรับโซลูชั่น LPWAN ที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มุ่งลงทุนมากที่สุดคือ NB-IoT เนื่องจากสามารถใช้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่มีอยู่เดิมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ย่านความถี่ที่มีการจดทะเบียนใช้งานไว้แล้ว แม้ว่าจะเสียเปรียบโซลูชั่นของเจ้าอื่นอย่าง Ingenu, SigFox, และ LoRa ที่มีชิปเซ็ตและฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันที่รองรับได้มากกว่าก็ตาม

ทางด้านคู่แข่งผู้ให้บริการ LPWAN ก็มีการลงทุนเพิ่มอย่างมหาศาล เช่น Actility ในฝรั่งเศส ที่ระดมทุนกว่า 75 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ Sigfox ที่ระดมทุนได้กว่า 300 ล้านเหรียญฯ หรือทางด้าน Ingenu ในรัฐอรโซน่า ที่เพิ่มทุนมากถึง 118 ล้านดอลลาร์ฯ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากความต้องการด้านเครือข่ายการสื่อสารของ IIoT และ M2M มีความหลากหลายแตกต่างกันมาก จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโปรโตคอลที่ค่อนข้างแตกต่างและหลากหลายในรายละเอียดให้เหมาะกับแต่ละรูปแบบการใช้งาน เช่น การติดตามรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองนั้นต้องการการสื่อสารแบบเรียลไทม์ที่เร็วกว่า และอาจต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าอย่าง 5G ขณะที่การติดตามวัวในฟาร์ม หรือมิเตอร์ในลานจอดรถนั้นต้องการเครือข่ายที่ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดอย่าง LoRa เป็นต้น

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/cloud-infrastructure/lpwan-linchpin-iiot/1097605278