ปริมาณงานของนักวิศวกรเครือข่ายในองค์กรโดยเฉลี่ยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากแค่รับผิดชอบในการจัดการการส่งต่อข้อมูลให้ถึงที่หมายเท่านั้น ก้าวขึ้นมาเป็นการดูแลทั้งเครือข่าย, เซิร์ฟเวอร์, รวมไปถึงสตอเรจแล้ว ในปี 2560 นี้ เหล่าวิศวกรเครือข่ายจำเป็นต้องมีทักษะที่กว้างกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของเครือข่ายตามเป้าหมายทางธุรกิจ
เทคโนโลยีที่ควรจะต้องทำความเข้าใจ และทักษะที่ต้องการในปีใหม่นี้ ได้แก่:
1. Application Flow ไม่ว่าคุณจะต้องตั้งค่า Quality of Service (QoS) ในระดับสูง หรือต้องติดตั้งระบบเครือข่ายแบบ Software-Defined ในดาต้าเซ็นเตอร์หรือบน WAN นั้น ล้วนจำเป็นต้องทำความเข้าใจการทำงานของแอพพลิเคชั่น และโฟลว์การไหลของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวกับทั้งการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า, ฐานข้อมูล, และบริการบนคลาวด์ เพื่อให้สามารถปรับแต่งประสิทธิภาพของเครือข่ายได้
2. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในอดีตนั้น นักวิศวกรเครือข่ายจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเฉพาะที่ขอบของเครือข่ายหรือ Edge โดยมีความเข้าใจเกี่ยวกับไฟร์วอลล์ และระบบป้องกันการบุกรุก แต่เมื่อเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานประเภทต่างๆ อย่าง อีเมล์, เว็บ, และเอนด์พอยต์แล้ว ปกติจะเป็นความรับผิดชอบของทีมงานไอทีที่เหลือหรือทีมอื่น ทว่าด้วยเทคโนโลยี Unified Threat Management (UTM) ในปัจจุบันแล้ว วิศวกรเครือข่ายจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านสถาปัตยกรรม และการสนับสนุนโซลูชั่นความปลอดภัยที่ยูนิฟายด์แบบ End-to-End ที่ครอบคลุมตั้งแต่เอนด์พอยต์ไปถึงคลาวด์หรือไกลกว่านั้นด้วย
3. SD-WAN ในปี 2559 นั้น มีกระแสของระบบเครือข่ายที่จัดการด้วยซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้กับ WAN มากขึ้น เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างยิ่ง แม้บางองค์กรจะยังไม่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อจำกัด และข้อเท็จจริงบางอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับ SD-WAN โดยเฉพาะเรื่องที่ SD-WAN ไม่สามารถให้ทรูพุตและระดับความหน่วงการส่งข้อมูลให้กับแอพที่สำคัญมากบางตัวได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นในปี 2560 นี้ นักวิศวกรเครือข่ายจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ SD-WAN แต่ละตัวเหมาะสม หรือควรนำมาใช้กับบริการผ่าน WAN เมื่อไร เช่น กับ MPLS
4. DNS การทำความเข้าใจการทำงานของ DNS อย่างดี ทั้งการใช้งานภายในและภายนอกองค์กรนั้น ก่อนหน้านี้เคยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในอันดับค่อนข้างต่ำสำหรับวิศวกรเครือข่าย แต่พอมาถึงเครือข่ายปัจจุบัน ที่มีปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับ DNS มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทักษะด้านนี้กลายมามีความสำคัญระดับต้นๆ แทน DNS ถือเป็นระบบสำคัญที่ผสานการทำงานกับสถาปัตยกรรมความปลอดภัยบนเครือข่ายแบบยูนิฟายด์ รวมทั้งเป็นองค์ประกอบหลังสำหรับคลาวด์แบบพับลิกและไพรเวท ซึ่งหมายความว่าเหล่าวิศวกรเครือข่ายจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับกลไกของ DNS เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดีกว่า
5. Internet of Things ถือเป็นเทรนด์ด้านไอทีที่สร้างความปวดหัวแก่วิศวกรเครือข่ายมากที่สุดในปี 2560 นี้ โดยไม่เพียงจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนขนาดเครือข่ายทั้งแบบที่มีใช้สายและไร้สาย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่อุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT นับหลายร้อยหลายพันตัวแล้ว ยังต้องรับผิดชอบงานด้านการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์เหล่านั้นเมื่อมีการเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายของบริษัทด้วย โดยต้องเตรียมตัวเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่บุกเบิกการนำ IoT มาใช้งาน ซึ่งจะได้รับความคาดหวังให้เป็นคนที่คอยแนะนำ และกำหนดโพลิซีการเชื่อมต่อและความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับ IoT ด้วย
6. การทำเวอร์ช่วลอุปกรณ์และบริการต่างๆ บนเครือข่าย ถ้าคุณยังคิดว่า SDN จะเป็นประเด็นถกเถียงในโลกเน็ตเวิร์กต่อเนื่องมาจากปี 2559 แล้ว คุณจะแปลกใจ เนื่องจากแม้ SDN จะสร้างความตื่นเต้นในวงการดาต้าเซ็นเตอร์และ WAN ในปีที่ผ่านมานั้น แต่องค์กรส่วนใหญ่กลับมีความเห็นว่า ก่อนจะวางเครือข่าย SDN แบบ End-to-End อุปกรณ์และบริการบนเครือข่ายจะต้องถูกทำให้เป็นแบบเวอร์ช่วลก่อน ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นต่อการทำเวอร์ช่วลทั้งด้านบริการ และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ บนเครือข่าย จะกลายเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก
7. ระบบทำงานอัตโนมัติบนเครือข่าย ปีที่แล้วนั้น นักวิศวกรเครือข่ายยังไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการใช้สคริปต์และรันงานแบบอัตโนมัติหรือ Automation ที่ทีมงานไอทีอื่นต้องใช้ในการลดภาระงานของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เครือข่ายถือเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่นิ่งตายตัว และไม่จำเป็นต้องมีการรันงานอย่างต่อเนื่อง พูดอีกอย่างคือ วิศวกรเครือข่ายสามารถทำงานแบบ “ตั้งค่าแล้วลืมมันไปได้เลย” แต่ไม่ใช่กับโลกปัจจุบัน เมื่อเครือข่ายมีความเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติมากขึ้นทั้งด้านการจัดการทราฟิก, บังตับใช้โพลิซี, และการจัดสรรทรัพยากรใหม่ ที่สร้างงานซ้ำๆ กันที่ใช้เวลาของวิศวกรเครือข่ายมากหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ดังนั้นทักษะการเขียนสคริปต์และใช้งาน API เพื่อรันงานเครือข่ายหลายอย่างให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัตินั้น ถือเป็นทักษะใหม่ที่จำเป็นอย่างยิ่ง
8. ระบบแบบ Hyperconverged เป็นระบบที่รวมทุกอย่างทั้งด้านการประมวลผล, สตอเรจ, และฟังก์ชั่นการทำงานด้านเครือข่ายมาอยู่บนระบบเดียวกันแบบยูนิฟายด์ วิศวกรเครือข่ายจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทูลการจัดการต่างๆ ที่ไว้ติดตั้งและจัดการระบบ Hyperconverged นี้ โดยฝ่ายไอทีจะต้องการให้เหล่าวิศวกรเครือข่ายทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของระบบ Hyperconverged ตั้งแต่เทคโนโลยีเริ่มต้นไปจนถึงการรันและปรับแต่งแอพพลิเคชั่นบนระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ที่มา : http://www.networkcomputing.com/careers/8-skills-network-engineers-need-2017/424210919